ผักกาดแก้ว เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ทานตะวัน (Asteraceae) มีใบสีเขียวอ่อนและหยักเล็กน้อย สามารถรับประทานแบบสดหรือนำมาประกอบเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ ผักกาดแก้วอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารมากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินเค โฟเลต โพแทสเซียม ที่อาจช่วยต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น และอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดแก้ว
ผักกาดแก้ว 100 กรัม อาจให้พลังงาน 14 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรตรวม 2.97 กรัม ที่ประกอบไปด้วย ไฟเบอร์ 1.2 กรัม และน้ำตาล 1.97 กรัม และอาจมีสารอาหารอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- โพแทสเซียม 141 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 18 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 7 มิลลิกรัม
- โคลีน (Choline)7 มิลลิกรัม
- โฟเลต 29 ไมโครกรัม
- วิตามินเค 24.1 ไมโครกรัม
นอกจากนี้ ยังมีวิตามินเอ วิตามินซี และแมงกานีส ที่อาจช่วยต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก และอาจช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาทและสมอง
ประโยชน์ของผักกาดแก้วต่อสุขภาพ
ผักกาดแก้ว มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของผักกาดแก้วในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
-
อาจช่วยบำรุงสายตา
ผักกาดแก้วมีวิตามินเอสูง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีบทบาทสำคัญช่วยบำรุงสายตา และอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาทางสายตาต่าง ๆ เช่น ตาแห้ง โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อหิน จากการศึกษาในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2556 พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในผักกาดแก้วอาจมีผลดีในแง่ของการลดการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้
-
อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผักกาดแก้วมีสารพฤกษเคมีที่มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ และส่งผลให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด จากการศึกษาในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2560 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานผักต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า การรับประทานผักหลายชนิด เช่น ผักกาดแก้ว ผักกาดหอม หน่อไม้ฝรั่ง ขึ้นฉ่าย หัวหอม และมะเขือเทศ ที่อุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ อาจช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ข้อควรระวังในการบริโภคผักกาดแก้ว
ผักกาดแก้วอาจมีสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มผักที่มีปริมาณสารอาหารน้อย ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย การรับประทานเพียงแต่ผักกาดแก้วอาจเสี่ยงต่อโรคขาดสารอาหาร ดังนั้น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ จึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่
นอกจากนี้ ก่อนรับประทานผักกาดแก้วควรล้างทำความสะอาดโดยเฉพาะส่วนใบ เพื่อกำจัดสารเคมีจากยาฆ่าแมลงและเชื้อก่อโรคต่าง ๆ เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องร่วง อาเจียนและปวดท้องรุนแรงได้