พริก ถูกจัดเป็นพืชตระกูลผลไม้ ไม่ใช่ผักอย่างที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งมีรสชาติเผ็ดร้อนเฉพาะตัวตามแต่ละหลากหลายสายพันธุ์ ความเผ็ดนั้นเกิดจากสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในแกนกลางของพริก ส่วนใหญ่ผู้คนนิยมนำพริกมาเป็นเครื่องเทศ หรือสมุนไพรในการปรุงอาหาร หากรับประทานอย่างเหมาะสมก็อาจให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ต้านสารอนุมูลอิสระ ช่วยในการเผาผลาญ แต่หากรับประทานมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน
สารอาหารในพริก
คุณค่าทางโภชนาการในพริก 100 กรัม ประกอบด้วย
- แคลอรี่ 39 กิโลแคลรี่
- คาร์โบไฮเดรต 9 กรัม
- โซเดียม 9 มิลลิกรัม
- โปรตีน 1.9 กรัม
- ไขมัน 0.4 กรัม
นอกจากนี้พริกยังอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญที่จำเป็นต่อสุขภาพ ได้แก่
- เส้นใยอาหาร
พริกมีใยอาหารที่ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ลดความเสี่ยงการเกิดริดสีดวงทวาร อีกทั้งยังช่วยลดคอเลสเตอรอล น้ำตาลในเลือด พริก 100 กรัม มีเส้นใยอาหาร 1.5 กรัม โดยทั่วไปแล้ว เด็กและผู้ใหญ่ควรได้รับไฟเบอร์ 20-30 กรัม/วัน ซึ่งอาจสามารถรับประทานพริกในปริมาณที่พอเหมาะ และรับประทานอาหารอื่น ๆ ที่ประกอบด้วยเส้นใยอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว
- ธาตุเหล็ก
เป็นแร่ธาตุที่สำคัญช่วยในด้านการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่เป็นสารประกอบโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดงช่วยนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย หากร่างกายได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้เกิดโรคโลหิตจาง อ่อนแรง เหนื่อยล้า สำหรับสตรีตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ทารกมีพัฒนาการล่าช้า ทารกน้ำหนักแรกเกิดต่ำ พริก 100 กรัม มีธาตุเหล็ก 1 มิลลิกรัม โดยปริมาณของธาตุเหล็กที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน แบ่งออกตามช่วงอายุ ดังนี้
-
- ทารก 0-6 เดือน ควรได้รับธาตุเหล็ก 0.27 มิลลิกรัม/วัน
- ทารก 7-12 เดือน ควรได้รับธาตุเหล็ก 11 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 7 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 10 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 8 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กผู้หญิงอายุ 14-18 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 15 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กผู้ชายอายุ 14-18 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 11 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้หญิงอายุ 19-18 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 18 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ชายอายุ 19-18 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 8 มิลลิกรัม/วัน/
- ผู้ใหญ่อายุ 51 ปีขึ้นไป ควรได้รับธาตุเหล็ก 8 มิลลิกรัม/วัน
- สตรีตั้งครรภ์ ควรได้รับธาตุเหล็ก 27 มิลลิกรัม/วัน
- สตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรได้รับธาตุเหล็ก 9 มิลลิกรัม/วัน
- วิตามินเอ
อาจช่วยบำรุงสุขภาพตา เพิ่มประสิทธิภาพด้านการมองเห็น ส่งเสริมความแข็งแรงให้กระดูก กระตุ้นการเจริญเติบโต การแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกาย และช่วยกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาว หากร่างกายขาดวิตามินเอ อาจส่งผลให้ผิวแห้ง ตาแห้ง ตาบอดตอนกลางคืน เกิดการติดเชื้อจนนำไปสู่ความเจ็บป่วยได้ง่าย พริก 100 กรัม มีวิตามินเอ 571.20 ไมโครกรัม โดยปริมาณการรับประทานวิตามินเอในแต่ละช่วงอายุ มีดังนี้
-
- เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 300 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 400 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 600 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กผู้หญิงอายุ 14 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินเอ 700 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กผู้ชายอายุ 14 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินเอ 900 ไมโครกรัม/วัน
- สตรีตั้งครรภ์ ควรได้รับวิตามินเอ 750-770 ไมโครกรัม/วัน
- สตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรได้รับวิตามินเอ 1,200-1,300 ไมโครกรัม/วัน
- วิตามินซี
เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันเซลล์ในร่างกายไม่ให้เกิดความเสียหายจากอนุมูลอิสระ กระตุ้นการสร้างหลอดเลือด คอลลาเจนในกระดูก กล้ามเนื้อ และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไข้หวัด การเจ็บป่วย หากร่างกายขาดวิตามินซี อาจส่งผลให้เลือดออกตามไรฟัน ร่างกายมีรอยฟกช้ำได้ง่าย แผลหายช้า พริก 100 กรัม มีวิตามินซี 143.7 มิลลิกรัม โดยปริมาณการรับประทานวิตามินซีที่อยู่ในปริมาณอาหารที่แนะนำในแต่ละวัน ได้แก่
-
- ทารก 0-6 เดือน ควรได้รับวิตามินซี 40 มิลลิกรัม/วัน
- ทารก 7-12 เดือน ควรได้รับวิตามินซี 50 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับวิตามินซี 15 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับวิตามินซี 25 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับวิตามินซี 45 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กผู้หญิงอายุ 14-18 ปี ควรได้รับวิตามินซี 65 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กผู้ชายอายุ 14-18 ปี ควรได้รับวิตามินซี 75 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้หญิงอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินซี 75 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินซี 90 มิลลิกรัม/วัน
- สตรีตั้งครรภ์ ควรได้รับวิตามินซี 80-85 มิลลิกรัม/วัน
- สตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ได้รับวิตามินซี 115-120 มิลลิกรัม/วัน
ประโยชน์ของพริก
ประโยชน์ของพริก อาจช่วยเสริมสุขภาพในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ลดน้ำหนัก
การเพิ่มรสชาติความเผ็ดร้อนของอาหารด้วยพริก อาจมีส่วนช่วยเผาผลาญแคลอรี่และไขมันในร่างกาย นักวิจัยจากศูนย์โภชนาการมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการลดน้ำหนักอาจเชื่อมโยงกับสารแคปไซซิน (Capsaicin) และ ไฮโดรแคปไซซิน (Hydrocapsicin) ในพริกที่ช่วยผลิตความร้อนภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ลอสแองเจลิส โดยนักวิจัยให้ผู้ชายและผู้หญิงจำนวน 34 คนที่เป็นโรคอ้วน รับประทานยาหลอกที่มีสารไฮโดรแคปไซซิน ขนาดยา 3-9 มิลลิกรัม เป็นเวลา 28 วัน พบว่า ร่างกายของผู้ที่ได้รับแคปซูล 9 มิลลิกรัมมีความร้อนและการใช้พลังงาน ทำให้เผาผลาญไขมันได้มากกว่าผู้ที่ได้รับประทานยาหลอก
- บรรเทาอาการไข้หวัด
พริกมีวิตามินซีที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเชื้อ ที่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วย จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน The Cochrane Database Of Systematic Reviews ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของวิตามินซีป้องกันไข้หวัด โดยรวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกว่า 29 รายการ มีผู้เข้าร่วมการทดสอบรวมทั้งสิ้น 11,306 คน ผลปรากฏว่า ผู้ที่รับประทานวิตามินซีมีระยะเวลาการเจ็บป่วยสั้นลง ร่างกายฟื้นตัวได้ไว 8% ในผู้ใหญ่ และ 14% ในเด็ก อีกทั้งการรับประทานวิตามินซี 1-2 กรัม/วัน อาจช่วยบรรเทาอาการหวัดได้ 18% ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า วิตามินซีไม่ใช่ยาที่ใช้รักษาโรคไข้หวัด แต่อาจมีส่วนช่วยลดอาการรุนแรงของไข้หวัด บรรเทาอาการหวัด และทำให้ฟื้นตัวได้ไว ร่นเวลาการเจ็บป่วยได้
- ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ
จากงานวิจัยเบื้องต้นที่นำเสนอในงานประชุมของสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน ปี พ.ศ. 2563 นักวิจัยได้คัดเลือกผลการศึกษากว่า 4,729 ชิ้น จากฐานข้อมูลสุขภาพกว่า 5 แห่งทั่วโลก เกี่ยวกับการบริโภคพริกที่อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจ ซึ่งจากการบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพของชายและหญิงจำนวน 570,000 คน ในประเทศสหรัฐอเมริกา อิตาลี อีหร่าน และจีน ถูกนำมาใช้เปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างผู้ที่ไม่รับประทานพริกและผู้ที่รับประทานพริก จากการศึกษานั้นพบว่า ผู้ที่รับประทานพริกมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง 26% อย่างไรก็ตาม นักวิจัยอาจยังไม่สามารถระบุถึงประโยชน์ของพริกในการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้อย่างแน่ชัด จึงจำเป็นต้องดำเนินการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันและหาความเชื่อมโยงของข้อมูลดังกล่าว
ข้อควรระวังในการรับประทานพริก
พริก อาจเป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ประกอบอาหารหลักของคนไทย แต่การรับประทานอาหารที่เผ็ดร้อนบ่อย ๆ และในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ อาจส่งผลให้ปวดท้อง ท้องเสีย ระคายเคืองกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน นอกจากนี้ ควรระวังการสัมผัสกับพริกโดยตรงขณะปรุงอาหาร เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณผิวหนังอาจเผลอนำมือไปขยี้ตา จับใบหน้า ปาก จมูก ดังนั้น ควรใส่ถุงมือและล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสกับพริก
สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบจากสารแคปไซซิน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนการรับประทาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาอาการแพ้ โดยเฉพาะกับสตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร
[embed-health-tool-bmr]