backup og meta

มะพร้าว ประโยชน์ และข้อควรระวังในการรับประทาน

มะพร้าว เป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานหอม ให้ความสดชื่น สามารถนำมาทำเป็นอาหาร ของว่าง ขนมหวาน เครื่องดื่มต่าง ๆ ได้หลากหลายเมนู นอกจากนี้ มะพร้าวยังมีสารอาหารมากมาย เช่น ไขมัน โปรตีน แมงกานีส แมกนีเซียม ทองแดง เหล็ก ที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ บรรเทาอาการอักเสบ ลดน้ำหนัก ป้องกันโรค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ควรบริโภคมะพร้าวในปริมาณพอเหมาะ เพราะหากมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน

มะพร้าว ประโยชน์ และข้อควรระวังในการรับประทาน

คุณค่าทางโภชนาการของมะพร้าว

เนื้อมะพร้าวสด 100 กรัม ให้พลังงาน 354 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหาร ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ไขมัน 33 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม
  • ไฟเบอร์ 9 กรัม
  • โปรตีน 3 กรัม
  • แมงกานีส 75% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • ทองแดง 22% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • ซีลีเนียม 14% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • เหล็ก 13% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • ฟอสฟอรัส 11% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • โพแทสเซียม 10% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • แมกนีเซียม 8% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน

ประโยชน์ของมะพร้าว

มะพร้าว ประกอบด้วยสารประกอบวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ มากมายที่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

1. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ไฟเบอร์ หรือใยอาหารในมะพร้าวมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ทั้งยังอาจช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ จึงอาจส่งผลให้ความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็งบางชนิดลดลงด้วย 

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes Care ของสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ. 2534 ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการเผาผลาญกลูโคสในผู้ป่วยเบาหวานของใยอาหาร พบว่า การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช อาจช่วยชะลอการย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือดช้าลงที่อาจช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ

 2. ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ

มะพร้าวมีโพแทสเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของหัวใจ ระดับความดันโลหิต ระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อ

งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการบริโภคโพแทสเซียมให้มากขึ้นกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการทบทวนงานวิจัย 22 ฉบับที่ศึกษาว่า การบริโภคโพแทสเซียมส่งผลต่อความดันโลหิต การทำงานของไต ไขมันในเลือด ความเข้มข้นของสารแคททีโคลามีน (ฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการเผาผลาญพลังงานและต้านเครียด) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างไรบ้าง และมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงจำนวน 1,606 คน ผลปรากฏว่า การบริโภคโพแทสเซียมให้มากขึ้นช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงได้ ทั้งยังไม่ส่งผลเสียต่อความเข้มข้นของไขมันในเลือด ความเข้มข้นของสารแคททีโคลามีน และการทำงานของไตในผู้ใหญ่ด้วย นอกจากนี้ การบริโภคโพแทสเซียมให้มากขึ้นยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ 24%

3. อาจส่งผลดีต่อการลดน้ำหนัก

มะพร้าวอุดมด้วยไฟเบอร์หรือใยอาหารที่กรดในกระเพาะอาหารและเอนไซม์ในลำไส้เล็กไม่สามารถย่อยสลายได้ ไฟเบอร์จึงอยู่ในทางเดินอาหารได้นาน ทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้นและอาจช่วยลดความอยากอาหารได้ ซึ่งประโยชน์สุขภาพดังกล่าวอาจดีต่อการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก

งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ทำการศึกษาในประเด็นที่ว่า การบริโภคไฟเบอร์ช่วยในการลดน้ำหนักและช่วยให้ผู้ใหญ่ปฏิบัติตามแผนการรับประทานอาหาร แบบจำกัดปริมาณแคลอรี่หรือพลังงานได้ โดยการให้กลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนรับประทานอาหารโดยจำกัดปริมาณแคลอรี่ให้น้อยกว่าปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน 750 กิโลแคลอรี่ และจะต้องได้รับไฟเบอร์อย่างน้อยวันละ 20 กรัม เป็นเวลา 6 เดือน พบว่า เมื่อครบ 6 เดือน น้ำหนักของกลุ่มตัวอย่างลดลงเฉลี่ย 1.3 กิโลกรัม และการบริโภคไฟเบอร์ ร่วมกับการจำกัดปริมาณแคลอรี่ และการได้รับสารอาหารหลักอย่างคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันอย่างพอเหมาะ ช่วยให้ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนซึ่งรับประทานอาหารแบบจำกัดปริมาณแคลอรี่สามารถลดน้ำหนักลงได้จริง

4. อาจช่วยลดแบคทีเรียในช่องปาก

เนื้อมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวสายยาวปานกลาง (Medium Chain Fatty Acids) ที่อาจช่วยลดแบคทีเรียในช่องปาก ป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้ฟันผุหรือรากฟันมีปัญหา เป็นต้น

งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งของศูนย์วิจัยสุขภาพช่องปาก มหาวิทยาลัยเคนทักกี ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Oral Biology เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ทำการศึกษาคุณสมบัติต้านจุลินทรีย์ในช่องปากของกรดไขมันอิ่มตัวสายสั้นและสายปานกลาง พบว่า กรดไขมันอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในช่องปาก เช่น แบคทีเรียบางชนิด เชื้อราแคนดิดา (Candida Albicans)

ข้อควรระวังการรับประทานมะพร้าว

มะพร้าวมีไขมันอิ่มตัวและแคลอรี่สูง หากรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลให้ น้ำหนักเพิ่มขึ้นจนเสี่ยงเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้ นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการแพ้สารบางอย่างในมะพร้าว ทำให้มีผื่นขึ้น หายใจลำบาก หากพบว่าบริโภคมะพร้าวแล้วเกิดอาการแพ้ดังกล่าวควรเข้ารับการรักษาในทันที เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้  และควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบทั้งหมด 

สตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตรอาจบริโภคมะพร้าวได้อย่างปลอดภัย แต่อาจต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานมะพร้าวในรูปแบบอาหารเสริม เนื่องจากยังมีหลักฐานยืนยันไม่เพียงพอว่าสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Coconut: Are There Health Benefits? https://www.webmd.com/diet/health-benefits-coconut#1. Accessed January 27, 2022

Potassium. https://medlineplus.gov/potassium.html. Accessed January 27, 2022 

Effect of increased potassium intake on cardiovascular risk factors and disease: systematic review and meta-analyses. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4816263/. Accessed January 27, 2022 

Dietary fiber: Essential for a healthy diet. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy-eating/in-depth/fiber/art-20043983 

Fiber. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/carbohydrates/fiber/. Accessed January 27, 2022 

Dietary fiber: An integral component of a successful weight loss intervention. https://nutrition.org/dietary-fiber-an-integral-component-of-a-successful-weight-loss-intervention/. Accessed January 27, 2022 

Effects of dietary fiber and carbohydrate on glucose and lipoprotein metabolism in diabetic patients. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/1663443/. Accessed January 27, 2022

Short- and medium-chain fatty acids exhibit antimicrobial activity for oral microorganisms. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21333271/. Accessed January 27, 2022 

Fiber Intake Predicts Weight Loss and Dietary Adherence in Adults Consuming Calorie-Restricted Diets: The POUNDS Lost (Preventing Overweight Using Novel Dietary Strategies) Study. https://academic.oup.com/jn/article/149/10/1742/5512578. Accessed January 27, 2022 

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับน้ำมะพร้าว ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

ดื่มน้ำมันมะพร้าว ช่วยให้ผู้ชายฟิตปึ๋งปั๋งได้จริงหรือ


ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดย ทีม Hello คุณหมอ · เขียน โดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไข 24/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา