backup og meta

มะม่วงหิมพานต์ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

มะม่วงหิมพานต์ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

มะม่วงหิมพานต์ หรือ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีผลลักษณะคล้ายชมพู่หรือลูกแพร์ ปลายผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ซึ่งสามารถรับประทานได้ทั้งผลและเมล็ด มะม่วงหิมพานต์อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและสารอาหารหลายชนิดที่อาจช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ ป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี และอาจช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรงอีกด้วย

คุณค่าทางโภชนาการของมะม่วงหิมพานต์

มะม่วงหิมพานต์ ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 553 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น

  • ไขมัน 43.85 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 30.19 กรัม
  • โปรตีน 18.22 กรัม
  • น้ำตาล 5.91 กรัม
  • ไฟเบอร์ 3.3 กรัม

นอกจากนี้ มะม่วงหิมพานต์ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี แมกนีเซียม แมงกานีส สังกะสี ทองแดง ซีลีเนียม (Selenium) ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก แคลเซียม โซเดียม

ประโยชน์ของเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีต่อสุขภาพ

มะม่วงหิมพานต์มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของมะม่วงหิมพานต์ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจ

เม็ดมะม่วงหิมพานต์อาจมีคุณสมบัติช่วยลดระดับไขมันในเลือดและลดความดันโลหิตสูง ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Developments in Nutrition เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับปฏิกิริยาของเม็ดมะม่วงหิมพานต์ต่อปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า เม็ดมะม่วงหิมพานต์สามารถปรับปรุงระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ในเลือดได้ และยังช่วยลดความดันโลหิตสูง โดยการลดระดับความดันซีสโตลิก (Systolic) หรือค่าแรงดันสูงสุดขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว และความดันไดแอสโตลิก (Diastolic) หรือค่าแรงดันขณะที่หัวใจคลายตัว โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจ

  1. อาจดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

สารประกอบในเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เช่น ไขมันไม่อิ่มตัว โพลิฟีนอล (Polyphenol) อาจมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งไฟเบอร์อาจช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและไขมันเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจดีต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และอาจช่วยป้องกันเบาหวานได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน International Journal of Endocrinology and Metabolism เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับการต่อต้านการอักเสบและดัชนีการเกิดลิ่มเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่อบริโภคเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทุกวัน โดยให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 50 คน รับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า ระดับอินซูลินในเลือด ไขมันไม่ดี (LDL) และคอเรสเตอรอลในเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสารประกอบในเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เช่น ไขมันไม่อิ่มตัว ไฟเบอร์ โพลิฟีนอล ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอการดูดซึมน้ำตาลและไขมันเข้าสู่กระแสเลือด

  1. อาจช่วยบำรุงสุขภาพกระดูก

เม็ดมะม่วงหิมพานต์อุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม ซิลิกอน (Silicon) โบรอน (Boron) ทองแดง สังกะสี แมงกานีส วิตามินเค วิตามินดี วิตามินซี ที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกใหม่ ช่วยเสริมความแข็งแรงและสุขภาพของกระดูก โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน The Open Orthopaedics Journal เมื่อเดือนมษายน พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับสุขภาพกระดูก พบว่า สารอาหารหลายชนิด เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม ซิลิกอน โบรอน ทองแดง สังกะสี แมงกานีส วิตามินเค วิตามินดี วิตามินซี ที่มีมากในเมล็ดพืชและพืชตระกูลถั่ว เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง ข้าวกล้อง ถั่วดำ อาจมีคุณสมบัติช่วยพัฒนาโครงสร้างกระดูก สร้างกระดูกใหม่ เสริมความหนาแน่นของมวลกระดูก บำรุงกระดูกให้แข็งแรงและสุขภาพดี

  1. อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก

การรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์อาจช่วยควบคุมน้ำหนักและลดความอ้วนได้ เนื่องจาก เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีแคลอรี่ต่ำ ทั้งร่างกายยังอาจใช้ระยะเวลาในการย่อยและดูดซึมนานกว่าปกติ จึงอาจส่งผลทำให้อิ่มได้นานขึ้น โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับปริมาณพลังงานเผาผลาญที่ได้จากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยคำนวณจากค่าพลังงานความร้อนของสารอาหาร (Atwater Factor) พบว่า เม็ดมะม่วงหิมพานต์ให้แคลอรี่น้อย สามารถย่อยสลายในกระเพาะอาหารได้น้อยกว่าอาหารชนิดอื่น ๆ จึงอาจดูดซึมได้น้อยลงและอาจดีต่อการควบคุมน้ำหนัก

ข้อควรระวังในการบริโภคเม็ดมะม่วงหิมพานต์

ข้อควรระวังบางประการที่ควรระวังก่อนบริโภคมะม่วงหิมพานต์ อาจมีดังนี้

  • เม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบมีสารยูรุชิออล (Urushiol) ซึ่งเป็นสารที่พบในพืชบางชนิด หากสัมผัสโดนผิวหนังอาจทำให้เกิดอาการผื่น ลมพิษ และผื่นแดงรอบปาก
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ถั่วควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เนื่องจากมีสารก่อภูมิแพ้ที่อาจนำไปสู่ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง เช่น ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ อาการคัน วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้ เป็นลม
  • การแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์บางครั้งอาจมีการใส่เกลือหรือคั่วด้วยน้ำมัน ทำให้มีปริมาณเกลือและไขมันที่สูง ซึ่งการรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ไขมันในเลือดเพิ่มขึ้นและอาจทำให้ความดันโลหิตสูงได้

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Effects of Daily Consumption of Cashews on Oxidative Stress and Atherogenic Indices in Patients with Type 2 Diabetes: A Randomized, Controlled-Feeding Trial. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6408729/. Accessed May 4, 2022

The Effect of Cashew Nut on Cardiovascular Risk Factors and Blood Pressure: A Systematic Review and Meta-analysis (P06-117-19). https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6573847/. Accessed May 4, 2022

Essential Nutrients for Bone Health and a Review of their Availability in the Average North American Diet. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3330619/. Accessed May 4, 2022

Metabolizable Energy from Cashew Nuts is Less than that Predicted by Atwater Factors. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6356908/. Accessed May 4, 2022

Cashew – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-10/cashew#:~:text=Cashew%20is%20a%20tree%20that,the%20nut%20to%20make%20medicine. Accessed May 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/05/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ใบเตย สรรพคุณ สารอาหาร และข้อควรระวังในการรับประทาน

สารอาหาร และปริมาณที่ควรได้รับ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/05/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา