backup og meta

มะระขี้นก ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

มะระขี้นก ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

มะระขี้นก (Bitter Melon หรือ Bitter Gourd) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Momordica charantia L.” เป็นพืชเถาเลื้อยในวงศ์แตง วงศ์เดียวกับซูกินี สควอช (Squash) แตงกวา ฟักทอง พืชชนิดนี้เจริญเติบโตในที่ที่อากาศร้อนชื้น และมีแสงแดดจัด เช่น เอเชีย แอฟริกา คนไทยนิยมนำมารับประทานแบบลวกจิ้มกินกับน้ำพริก มะระขี้นกเป็นพื้ชที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย และยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น คาเทชิน (Catechin) กรดแกลลิก (Gallic acid) ซึ่งอาจช่วยปกป้องเซลล์จากสารอนมูลอิสระ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังได้อีกด้วย

[embed-health-tool-bmr]

คุณค่าทางโภชนาการของ มะระขี้นก

มะระขี้นกดิบ 1 ถ้วย (24 กรัม) ให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี่ และมีปริมาณวิตามินและแร่ธาตุเด่น ๆ ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 4 กรัม
  • ไฟเบอร์ 2 กรัม
  • วิตามินซี 93% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • วิตามินเอ 44% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • โฟเลต (Folate) 17% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • โพแทสเซียม (Potassium) 8% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • สังกะสี 5% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • เหล็ก 4% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน

นอกจากนี้ มะระขี้นกยังมีสารโพลิฟีนอล (Polyphenols) อย่าง คาเทชิน (Catechin) กรดแกลลิก (Gallic acid) เอพิคาเทชิน (Epicatechin) กรดคลอโรจีนิก (Chlorogenic Acid) ที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกอนุมูลอิสระทำลาย จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ได้

ประโยชน์สุขภาพของ มะระขี้นก

ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

หากระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจะส่งผลให้มีคราบไขมันก่อตัวสะสมบนผนังหลอดเลือดแดง ส่งผลให้หลอดเลือดตีบ และสูบฉีดเลือดได้ยากขึ้น จนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งในหนูทดลองที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง พบว่า สารสกัดจากมะระขี้นกช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) คอเลสเตอรอลแอลดีแอล (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ได้จริง และงานศึกษาวิจัยอีกชิ้นที่ให้หนูทดลองกลุ่มหนึ่งกินสารสกัดจากมะระขี้นก ส่วนอีกกลุ่มกินยาหลอก (Placebo) พบว่า หนูทดลองกลุ่มที่กินสารสกัดจากมะระขี้นกมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงจริงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินยาหลอก และยิ่งกินสารสกัดจากมะระขี้นกในขนาดยาหรือโดส (Dose) สูงเท่าไหร่ ประมาณคอเลสเตอรอลก็จะยิ่งลดลงเท่านั้น

ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า มะระขี้นกสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ยกตัวอย่าง งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ป่วยเบาหวานวัยผู้ใหญ่จำนวน 24 คนกินอาหารเสริมสารสกัดมะระขี้นกทุกวัน วันละ 2,000 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์  พบว่า สามารถช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดระดับฟรุกโตซามีน (Fructosamine) ซึงเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระยะยาวด้วย

อาจช่วยต้านมะเร็งได้

งานศึกษาในหลอดทดลองชิ้นหนึ่งพบว่า สารสกัดจากมะระขี้นกสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งในกระเพาะอาหาร ลำไส้ ปอด และคอหอยหลังโพรงจมูก (Nasopharynx) ได้ ส่วนงานศึกษาในหลอดทดลองอีกชิ้นระบุว่า สารสกัดมะระขี้นกสามารถขัดขวางการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเต้านม ทั้งยังทำให้เซลล์มะเร็งตายได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาดังกล่าวก็ยังเป็นแค่การศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการ และใช้สารสกัดมะระขี้นกในปริมาณมาก จึงยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปว่า หากเป็นการกินมะระขี้นกในรูปแบบอาหารแบบปกติ จะให้ผลลัพธ์เหมือนกับในงานศึกษาเหล่านี้หรือไม่

อาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก

มะระขี้นกให้พลังงานต่ำมาก แถมยังมีไฟเบอร์สูงด้วย ซึ่งคุณสมบัติสองข้อนี้ถือว่าส่งผลดีต่อผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักเป็นอย่างมาก เพราะไฟเบอร์เคลื่อนที่ผ่านทางเดินอาหารได้ช้ามาก จึงช่วยให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น และช่วยลดความหิวหรือความอยากอาหารได้ด้วย อีกทั้งงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นยังชี้ว่า มะระขี้นกส่งผลดีต่อระบบเผาผลาญไขมันของร่างกาย และการลดน้ำหนัก งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การบริโภคแคปซูลสารสกัดมะระขี้นก 4.8 กรัมทุกวันช่วยให้ไขมันหน้าท้องลดลง เมื่อวัดรอบเอวผู้เข้าร่วมการทดลองหลังจากกินสารสกัดมะระขี้นกในปริมาณดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลา 7 สัปดาห์ พบว่ารอบเอวลดลงเฉลี่ย 0.5 นิ้ว (1.3 เซนติเมตร)

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาวิจัยข้างต้นใช้อาหารเสริมที่มีสารสกัดจากมะระขี้นกในปริมาณสูง ผู้เชี่ยวชาญจึงยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า หากเป็นการกินมะระขี้นกในรูปแบบอาหารปกติ จะได้รับปริมาณสารสกัดมากพอ จนทำให้ไขมันหน้าท้องลดลงได้เหมือนในการทดลองหรือเปล่า และอาจต้องมีการศึกษาข้อมูลในเรื่องนี้เพิ่มเติมกันต่อไป

ข้อควรระวังในการบริโภคมะระขี้นก

การบริโภคมะระขี้นก ก็เหมือนกับการบริโภคอาหารทุกชนิด นั่นคือ ควรบริโภคแต่พอดี จึงจะได้วิตามินและแร่ธาตุในปริมาณที่เหมาะสม และได้ประโยชน์สุขภาพจากมะระขี้นกอย่างแท้จริง  หากบริโภคมะระขี้นกในปริมาณมากเกินไป หรือบริโภคติดต่อกันนานเกินไป อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก อาเจียน และปวดท้องได้

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำด้วยว่า หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรกินมะระขี้นก เพราะผลจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า สารเคมีบางชนิดที่อยู่ในมะระขี้นกทำให้ภาวะเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด และทำให้เกิดภาวะแท้งได้

และหากใครมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจบริโภคมะระขี้นก เพราะผักชนิดนี้มีสารเคมีที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด หากกินมะระขี้นกร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือด อาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ซึ่งส่งผลเสียต่อหัวใจ และหากเกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง อาจถึงขั้นทำให้สมองพิการได้ด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bitter Gourd: Health Benefits, Nutrition, and Uses. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-bitter-gourd#1. Accessed November 3, 2020

BITTER MELON. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-795/bitter-melon. Accessed November 3, 2020

Bitter Melon. https://www.emedicinehealth.com/bitter_melon/vitamins-supplements.htm. Accessed November 3, 2020

Bitter melon. (2019). mskcc.org/cancer-care/integrative-medicine/herbs/bitter-melon. Accessed November 3, 2020

Bitter melon. (2019). fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/450617/nutrients. Accessed November 3, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/05/2024

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

สารต้านอนุมูลอิสระ สารอาหารจำเป็นที่ร่างกายขาดไม่ได้

ไม่กินผักและผลไม้ รู้ไหมอันตรายต่อสุขภาพมากแค่ไหน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 24/05/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา