backup og meta

มันแกว ประโยชน์สุขภาพ และข้อควรระวัง

มันแกว ประโยชน์สุขภาพ และข้อควรระวัง

มันแกว เป็นพืชตระกูลหัว เนื้อข้างในมีสีขาว มีรสชาติออกหวาน มัน กรอบ มันแกวอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ทั้งวิตามิน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และยังมีไขมันต่ำ แคลอรี่ต่ำ และมีไฟเบอร์สูง จึงอาจเหมาะที่จะรับประทานเพื่อช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนัก ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบย่อยอาหาร และอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย 

[embed-health-tool-bmr]

คุณค่าทางโภชนาการของมันแกว

มันแกว (Jicama) เป็นพืชที่ให้สารอาหารที่หลากหลายและดีต่อสุขภาพอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึงเลยทีเดียว การรับประทานมันแกว 1 ถ้วย (ประมาณ 130 กรัม) จะได้รับสารอาหารสำคัญ ดังนี้

  • พลังงาน 49 แคลอรี่
  • คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม
  • ไขมัน 0.1 กรัม
  • ไฟเบอร์ 6.4 กรัม
  • วิตามินซี 44 เปอร์เซนต์ต่อปริมาณของวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

นอกจากนี้ยังได้วิตามินและแร่ธาตุสำคัญ ๆ อย่าง วิตามินอี โฟเลต ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และสารต้านอนุมูลอิสระ

ประโยชน์ของมันแกว

มันแกวอาจฟังดูเป็นพืชที่ไม่ได้โดดเด่นในเรื่องของคุณค่าทางสารอาหารหรือประโยชน์ต่อสุขภาพเท่าไหร่นัก แต่การรับประทานมันแกว สามารถช่วยให้สุขภาพดีได้ ดังนี้

ลดระดับน้ำตาลในเลือด

ระดับน้ำตาลในเลือดที่พุ่งสูง สามารถมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวหลายประการ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง แต่มันแกวเป็นพืชที่มีค่าดัชนีรวมของน้ำตาลในระดับที่ต่ำ และยังมีไฟเบอร์สูง การรับประทานมันแกวจึงมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้พุ่งสูง เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างควบคุมระดับน้ำตาล 

ดีต่อระบบย่อยอาหาร

มันแกวเป็นพืชที่มีไฟเบอร์สูง การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์มาก ไฟเบอร์จะเข้าไปช่วยกระตุ้นกระบวนการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และมันแกวมีไฟเบอร์ที่ชื่อ อินนูลิน (Inulin) ซึ่งเป็นเส้นใยที่ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ป้องกันปัญหาท้องผูก

ดีต่อแบคทีเรียในลำไส้

มันแกวเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่มีพรีไบโอติก ซึ่งอาหารพรีไบโอติกจะเป็นอาหารชั้นดีของเหล่าแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ช่วยเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ให้มากขึ้น และลดจำนวนของแบคทีเรียชนิดที่ไม่ดีในลำไส้ลง ทำให้ลำไส้แข็งแรง สามารถย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น

ดีต่อสุขภาพหัวใจ

มันแกวมีสารอาหารที่ช่วยในการบำรุงสุขภาพหัวใจอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ธาตุเหล็ก ทองแดง ไฟเบอร์ และโพแทสเซียม มันแกวอุดมไปด้วยสารโพแทสเซียมที่มีส่วนช่วยในการขยายหลอดเลือดที่ลำเลียงโลหิตไปยังหัวใจ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง และมีไฟเบอร์ที่มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจ การรับประทานมันแกวจึงมีส่วนช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้

ป้องกันภาวะขาดน้ำ

ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำในปริมาณมาก หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ จนระดับน้ำในร่างกายลดต่ำลงทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ แต่สามารถแก้ได้ด้วยการดื่มน้ำให้มาก อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว รวมถึงรับประทานอาหารที่มีความฉ่ำน้ำ อย่างผักหรือผลไม้บางชนิดที่มีองค์ประกอบของน้ำสูง

การกินอาหารฉ่ำน้ำร่างกายก็จะได้น้ำจากอาหารเหล่านี้ จึงช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะขาดน้ำได้ มันแกวเป็นผืชอีกชนิดหนึ่งที่มีความฉ่ำน้ำ โดยมันแกวมีองค์ประกอบของน้ำมากถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากพอที่จะช่วยให้ร่างกายมีความชุ่มชื้น

ดีต่อการลดน้ำหนัก

ถ้ากำลังมองหาของว่างที่ทั้งอร่อยและดีต่อการลดน้ำหนักอยู่ล่ะก็ อย่ามองข้ามมันแกว เพราะมันแกวเป็นผืชที่มีไฟเบอร์สูง ให้แคลอรี่ต่ำ มีน้ำมาก และยังมีน้ำตาลน้อยอีกด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้นแล้ว ก็ยังช่วยควบคุมไม่ให้แคลอรี่เกินพิกัดอีกต่างหาก 

ข้อควรระวังในการกินมันแกว

  • มันแกวควรจะรับประทานเฉพาะส่วนที่เป็นหัวเท่านั้น เปลือก ใบ เมล็ด และลำต้นถือว่ามีพิษ ห้ามรับประทาน
  • ผู้ที่มีอาการแพ้มันแกว ที่ถึงแม้จะพบได้น้อยถึงน้อยมาก แต่ควรที่จะระวังและหลีกเลี่ยงการกินมันแกวหรืออาหารที่มีส่วนผสมของมันแกว เพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Jicama. https://www.webmd.com/food-recipes/jicama-health-benefits#1. Accessed on October 15, 2020.

Vitamin C. https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminC-HealthProfessional/. Accessed December 28, 2021.

The role of antioxidants in the chemistry of oxidative stress: A review. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25942353/. Accessed December 28, 2021.

Role of Dietary Salt and Potassium Intake in Cardiovascular Health and Disease: A Review of the Evidence. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3833247/. Accessed December 28, 2021.

Effect of dietary fiber on constipation: A meta analysis. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3544045/. Accessed December 28, 2021.

Impact of the gut microbiota, prebiotics, and probiotics on human health and disease. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25179725/. Accessed December 28, 2021.

Jicama (Pachyrhizus erosus) extract increases insulin sensitivity and regulates hepatic glucose in C57BL/Ksj-db/db mice. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26798198/. Accessed December 28, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/12/2021

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลือดจาง กิน วิตามิน อะไร เพื่อบำรุงและกระตุ้นการไหลเวียนเลือด

หัวปลี สารอาหารสำคัญ สรรพคุณทางยา และประโยชน์ของหัวปลี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 28/12/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา