backup og meta

วิตามินบี ช่วยอะไร และอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี

วิตามินบี ช่วยอะไร และอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี

วิตามินบี (Vitamin B) เป็นกลุ่มวิตามินที่สามารถละลายในน้ำได้ มีด้วยกันหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน เช่น ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท มีส่วนสำคัญในกระบวนการเผาผลาญอาหารเป็นพลังงาน (เมตาบอลิซึม) ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือด ร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสร้างและกักเก็บวิตามินบีบางชนิดได้ จึงต้องได้รับวิตามินจากอาหารเป็นประจำทุกวัน การทราบว่า วิตามินบี ช่วยอะไร และอาหารประเภทไหนบ้างที่อุดมไปด้วยวิตามินบี อาจช่วยให้บริโภควิตามินบีได้เหมาะสมและเพียงพอมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินบีได้ อาจรับประทานอาหารเสริมแทนได้ แต่ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

วิตามินบี คืออะไร

วิตามินบี เป็นกลุ่มวิตามินที่สามารถละลายได้ในน้ำ มีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ และกักเก็บไว้ในร่างกายได้ไม่นาน จึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินบีในปริมาณที่เพียงพอเป็นประจำทุกวัน

วิตามินบี ช่วยอะไร

วิตามินบีมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย และสามารถหาได้จากแหล่งอาหารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. วิตามินบี 1 (Vitamin B1) หรือไทอะมีน (Thiamine)

มีส่วนช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและการทำงานของเซลล์ในร่างกาย ช่วยเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงาน ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมอง เป็นต้น

อาหารที่เป็นแหล่งวิตามินบี 1 เช่น

  • ถั่ว
  • ธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ควินัว ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์
  • เมล็ดพืช โดยเฉพาะงาและเมล็ดดอกทานตะวัน
  • เนื้อหมู เนื้อปลา
  • โยเกิร์ต

ปริมาณวิตามินบี 1 ที่แนะนำต่อวัน

  • ผู้ชายอายุ 19-54 ปี คือ 1.2 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้หญิงอายุ 19-54 ปี คือ 1.1 มิลลิกรัม/วัน
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร คือ 1.4 มิลลิกรัม/วัน

หากร่างกายได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้น้ำหนักลด สูญเสียความจำ สับสน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปลายประสาทอักเสบ ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ทำให้หัวใจ สมองและระบบประสาททำงานผิดปกติ เกิดโรคเหน็บชา มีภาวะการทำงานของสมองเสื่อมถอย (Cognitive Decline) มีกลุ่มอาการเวอร์นิก-คอร์ซาคอฟ (Wernicke-Korsakoff syndrome) ซึ่งมักส่งผลให้การมองเห็นเปลี่ยนแปลง มีอาการเดินเซ มีความจำผิดปกติ เป็นต้น

2. วิตามินบี 2 (Vitamin B2) หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin)

เป็นส่วนประกอบสำคัญของโคเอนไซม์ (สารประกอบอินทรีย์ช่วยในกระบวนการทำงานของเอนไซม์) ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกาย กระบวนการผลิตพลังงาน และกระบวนการย่อยไขมัน สเตียรอยด์ และยารักษาโรค ทั้งยังช่วยให้ผิว ดวงตา ตับ กล้ามเนื้อ และระบบประสาทแข็งแรง

โดยปกติแล้ว แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถสร้างวิตามินบี 2 ได้ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินบี 2 จากอาหาร เช่น

  • นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต
  • ไข่
  • เนื้อปลา เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เครื่องในสัตว์
  • เห็ดชนิดต่าง ๆ
  • พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก
  • ปวยเล้ง
  • อะโวคาโด

ปริมาณวิตามินบี 2 ที่แนะนำต่อวัน

  • ผู้ชายอายุ 19-54 ปี คือ 1.3 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้หญิงอายุ 19-54 ปี คือ 1.1 มิลลิกรัม/วัน
  • หญิงตั้งครรภ์ คือ 1.4 มิลลิกรัม/วัน
  • หญิงให้นมบุตร คือ 1.6 มิลลิกรัม/วัน

หากขาดวิตามินบี 2 อาจส่งผลให้เป็นโรคปากนกกระจอก มุมปากแตก ริมฝีปากแห้งแตก ผิวแห้ง ลิ้นหรือริมฝีปากอักเสบ มีแผลในปาก เจ็บคอ ตาไวต่อแสง คันตา ผมร่วง มีภาวะโลหิตจาง เป็นต้น และหากขาดวิตามินบีเรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจก โรคไมเกรน และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

3. วิตามินบี 3 (Vitamin B3) หรือไนอะซิน (Niacin)

มีช่วยส่วนในการเปลี่ยนสารอาหาร เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เป็นพลังงานให้กับร่างกาย ช่วยสังเคราะห์คอเลสเตอรอลและไขมันในร่างกาย ช่วยให้ผิวแข็งแรง ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทและระบบย่อยอาหาร เป็นต้น

อาหารที่ให้วิตามินบี 3 เช่น

  • เนื้อแดงและเครื่องในสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ตับวัว
  • เนื้อไก่เนื้อปลา
  • ธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์
  • ถั่วและเมล็ดพืช
  • กล้วยหอม

ปริมาณวิตามินบี 3 ที่แนะนำต่อวัน

  • ผู้ชายอายุ 19-54 ปี คือ 16 มิลลิกรัม เอ็นอี/วัน
  • ผู้หญิงอายุ 19-54 ปี คือ 14 มิลลิกรัม เอ็นอี/วัน
  • หญิงตั้งครรภ์ คือ 18 มิลลิกรัม เอ็นอี/วัน
  • หญิงให้นมบุตร คือ 16 มิลลิกรัม เอ็นอี/วัน

โดย 1 มิลลิกรัม เอ็นอี (mg NE) เท่ากับนิโคตินาไมด์ (Nicotinamide) และไนอะซิน (Niacin) รูปแบบอื่น 1 มิลลิกรัม หรือเท่ากับทริปโตเฟน (Tryptophan) 60 มิลลิกรัม

หากร่างกายขาดวิตามินบี 3 รุนแรงอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้า ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย สูญเสียความทรงจำ ประสาทหลอน และโรคเพลลากรา (Pellagra) ที่ทำให้มีอาการลิ้นเป็นแผลและอักเสบ แสบร้อนในปากและลำคอ ท้องเสียหรือท้องผูก ผิวหนังอักเสบและเป็นสีเข้มเหมือนไหม้แดด

4. วิตามินบี 5 (Vitamin B5) หรือกรดแพนโทเทนิก (Pantothenic acid)

วิตามินบี 5 มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยในกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และแอลกอฮอล์ มีส่วนในกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดและฮอร์โมนสเตียรอยด์ ช่วยในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย แม้แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จะสามารถผลิตวิตามินบี 5 ได้ แต่ปริมาณก็น้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงควรบริโภคอาหารดังตัวอย่างต่อไปนี้เพื่อให้ได้รับวิตามินบี 5 อย่างเหมาะสม

  • เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อวัว เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไต (เซี่ยงจี๊)
  • นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต
  • ไข่
  • เห็ดชนิดต่าง ๆ
  • อะโวคาโด
  • ธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ควินัว ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์
  • เมล็ดพืช โดยเฉพาะเมล็ดดอกทานตะวัน
  • พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก
  • มันฝรั่ง
  • แครอท

ปริมาณวิตามินบี 5 ที่แนะนำต่อวัน

  • ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 19-54 ปี คือ 5 มิลลิกรัม/วัน
  • หญิงตั้งครรภ์ คือ 6 มิลลิกรัม/วัน
  • หญิงให้นมบุตร คือ 7 มิลลิกรัม/วัน

ภาวะขาดวิตามินบี 5 ค่อนข้างพบได้ยาก เพราะวิตามินบี 5 พบในอาหารหลากหลายชนิด แต่สำหรับผู้ที่มียีนส์กลายพันธุ์ทำให้ไม่สามารถเผาผลาญวิตามินบี 5 ได้ ก็อาจมีภาวะร่างกายขาดวิตามินบี 5 จนส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย กระสับกระส่ายตลอดเวลา มีปัญหาในการนอนหลับ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งท้อง มือหรือเท้าชา เป็นตะคริว เป็นต้น

5. วิตามินบี 6 (Vitamin B6) หรือไพริด็อกซิน (Pyridoxine)

เมื่อร่างกายได้รับวิตามินบี 6 อย่างเพียงพอ จะช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทและสมอง ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ช่วยควบคุมการหลั่งฮอร์โมน เช่น เซโรโทนิน โดพามีน ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท คอยรับส่งข้อมูลระหว่างเซลล์ เพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติ ร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินบี 6 เองได้ ต้องได้รับจากอาหาร เช่น

  • เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อวัว และเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ
  • หอย เช่น หอยนางรม หอยลาย หอยตลับ
  • ผักที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ เช่น มันฝรั่ง มันเทศ ข้าวโพด ถั่วลันเตา เทอร์นิพ (Turnip)
  • ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ปวยเล้ง คะน้า กวางตุ้ง
  • ผลไม้ เช่น กล้วยหอม มะละกอ ส้ม แคนตาลูป

ปริมาณวิตามินบี 6 ที่แนะนำต่อวัน

  • ผู้ชายอายุ 14-50 ปี คือ 1.3 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ชายอายุ 51 ปีขึ้นไป คือ 1.7 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้หญิงอายุ 14-18 ปี คือ 1.2 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้หญิงอายุ 19-50 ปี คือ 1.3 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้หญิงอายุ 51 ปีขึ้นไป คือ 1.5 มิลลิกรัม/วัน
  • หญิงตั้งครรภ์ คือ 1.9 มิลลิกรัม/วัน
  • หญิงให้นมบุตร คือ 2 มิลลิกรัม/วัน

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินบี 6 มักขาดวิตามินบีชนิดอื่นร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ วิตามินบี 9 (โฟเลต หรือกรดโฟลิก) และวิตามินบี 12 (โคบาลามิน) หากเป็นแค่ระยะสั้นหรือระดับเบา มักจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่หากขาดวิตามินบี 6 รุนแรงหรือเรื้อรัง อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ซึมเศร้า สับสน ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง มีปัญหาผิวหนัง (เช่น คันตามผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ผิวแห้งลอก) มีอาการชัก มีภาวะโลหิตจางแบบเม็ดเลือดแดงเล็กกว่าปกติ (Microcytic anemia)

แม้ภาวะขาดวิตามินบี 6 จะพบได้ยาก แต่หากมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคพิษสุรา ภาวะขาดไทรอยด์ โรคเซลิแอค โรคโครห์น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้

6. วิตามินบี 7 (Vitamin B7) หรือไบโอติน (Biotin)

มีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์กรดไขมัน กรดอะมิโน และไกลโคเจน (สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่สะสมไว้ในตับและกล้ามเนื้อ เพื่อใช้เป็นพลังงานสำรองเมื่อน้ำตาลในเลือดลดลง หรือขาดสารอาหาร) ทั้งยังอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และอาจช่วยบำรุงผิวและผมให้แข็งแรงได้

อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบี 7 เช่น

  • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา และเครื่องในสัตว์ เช่น ตับวัว
  • ไข่แดง
  • นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต
  • ถั่วและเมล็ดพืช เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน อัลมอนด์
  • ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ปวยเล้ง คะน้า กวางตุ้ง

ปริมาณวิตามินบี 7 ที่แนะนำต่อวัน

  • ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 19 ปีขึ้นไป คือ 30 ไมโครกรัม/วัน
  • หญิงตั้งครรภ์ คือ 30 ไมโครกรัม/วัน
  • หญิงให้นมบุตร คือ 35 ไมโครกรัม/วัน

หากได้รับวิตามินบี 7 น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ อาจส่งผลให้ผมบาง เล็บเปราะแตกง่าย ผิวหนังบริเวณรอบดวงตา จมูก และริมฝีปากตกสะเก็ด ผิวหนังติดเชื้อง่าย เยื่อตาอักเสบ เหนื่อยง่าย คลื่นไส้อาเจียน ซึมเศร้า มีอาการชัก เป็นต้น โดยอาการจะเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่หากปล่อยไว้นานก็อาจส่งผลเสียรุนแรงได้

7. วิตามินบี 9 (Vitamin B9) หรือโฟเลต (Folate) หรือกรดโฟลิก (Folic acid)

มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และสารพันธุกรรมในเซลล์ เช่น ดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ ช่วยในการสังเคราะห์กรดอะมิโนจำเป็น ทั้งยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางระบบประสาทและสมองของทารกในครรภ์ จึงถือเป็นสารอาหารสำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับอย่างเพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะพิการแต่กำเนิด เช่น ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defect)

วิตามินบี 9 พบมากในอาหาร เช่น

  • เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อวัว และเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ
  • ไข่
  • ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ปวยเล้ง ผักคะน้า กวางตุ้ง
  • พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช และเมล็ดพืช
  • ผลไม้ตระกูลซิตรัส เช่น ส้ม มะนาว เลมอน ส้มโอ เกรปฟรุต

ปริมาณวิตามินบี 9 ที่แนะนำต่อวัน

  • ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 19 ปีขึ้นไป คือ 400 ไมโครกรัม ดีเอฟอี
  • หญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ คือ 600 ไมโครกรัม ดีเอฟอี
  • หญิงให้นมบุตร คือ 500 ไมโครกรัม ดีเอฟอี

โดย 1 ไมโครกรัม ดีเอฟอี (mcg DFE) เท่ากับวิตามินบี 9 หรือโฟเลตในอาหาร 1 ไมโครกรัม หรือเท่ากับกรดโฟลิกในอาหาร 0.6 ไมโครกรัม หรือเท่ากับกรดโฟลิกแบบเม็ดยาเมื่อรับประทานตอนท้องว่าง 0.5 ไมโครกรัม

ภาวะขาดวิตามินบี 9 พบได้ค่อนข้างยาก แต่หากเป็นโรคพิษสุรา ตั้งครรภ์ เคยเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร เช่น โรคเซลิแอค โรคลำไส้แปรปรวน ก็อาจเสี่ยงเกิดภาวะขาดวิตามินบี 9 ได้ โดยสามารถสังเกตได้จากอาการ เช่น ปวดศีรษะ เป็นแผลที่ลิ้นหรือในช่องปาก ผิวหนัง ผม หรือเล็บเปลี่ยนแปลงไป (เช่น ผมร่วง ผิวซีด) ใจสั่น หายใจถี่ เหนื่อยล้าอ่อนเพลียง่าย กระสับกระส่าย เป็นโรคโลหิตจางแบบเม็ดเลือดแดงใหญ่ผิดปกติ (Megaloblastic anemia)

8. วิตามินบี 12 (Vitamin B12) หรือโคบาลามิน (Cobalamin)

ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและการทำงานของระบบประสาทและสมอง และระบบทางเดินอาหาร ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดและดีเอ็นเอ ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางแบบเม็ดเลือดแดงใหญ่ผิดปกติ (Megaloblastic anemia) ช่วยในการย่อยและดูดซึมไขมันและกรดอะมิโน

ร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินบี 12 เองได้ จึงต้องได้รับจากอาหาร เช่น

  • เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อวัว และเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ
  • ไข่
  • นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต
  • หอย เช่น หอยนางรม หอยลาย หอยตลับ

ปริมาณวิตามินบี 12 ที่แนะนำต่อวัน

  • ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 14 ปีขึ้นไป คือ 2.4 ไมโครกรัม/วัน
  • หญิงตั้งครรภ์ คือ 2.6 ไมโครกรัม/วัน
  • หญิงให้นมบุตร คือ 2.8 ไมโครกรัม/วัน

วิตามินบี 12 พบได้เฉพาะในเนื้อสัตว์ ไม่มีในผักหรือผลไม้ ผู้ที่รับประทานอาหารประเภทมังสวิรัติหรืออาหารเจเป็นเวลานาน รวมถึงทารกที่กินนมแม่ซึ่งรับประทานเจหรือมังสวิรัติ จึงอาจเสี่ยงเกิดภาวะขาดวิตามินบี 12 ได้ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคเซลิแอค โรคโครห์น หรือเคยเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ ทำให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ไม่ดี ก็อาจเสี่ยงได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้เช่นกัน

หากขาดวิตามินบี 12 อาจส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย สูญเสียความจำ สับสนง่าย สมองเสื่อม มีอาการชัก ซึมเศร้า เป็นโรคโลหิตจางแบบเม็ดเลือดแดงใหญ่ผิดปกติ (Megaloblastic anemia) หรือเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 หรือที่เรียกว่า โรคโลหิตจางอย่างร้าย (Pernicious anemia) ซึ่งพบได้ยากแต่ถือเป็นโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ความเสี่ยงจากการบริโภควิตามินบี

การได้รับวิตามินบีบางชนิดมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น

  • หากได้รับวิตามินบี 3 หรือไนอาซินเกินปริมาณที่กำหนด อาจทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ และระดับไขมันในเลือดเสียสมดุล จนส่งผลให้เกิดอาการคัน คลื่นไส้อาเจียน และหากปล่อยไว้นาน อาจทำลายตับ
  • หากได้รับวิตามินบี 6 หรือไพริด็อกซินมากเกินไป อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน ระบบประสาทถูกทำลาย โดยเฉพาะที่มือและเท้า รวมถึงทำให้มีอาการเซ (Ataxia)
  • หากได้รับวิตามินบี 9 หรือโฟเลตเกิน 1,000 ไมโครกรัม/วัน ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการไม่สบายตัว รู้สึกเหมือนจะป่วย กระสับกระส่าย ลำไส้ทำงานผิดปกติ ทั้งยังอาจส่งผลให้ขาดวิตามินบี 12 ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในได้รับวิตามินบีมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ มักพบในผู้ที่รับประทานวิตามินบีในรูปแบบอาหารเสริม หรือวิตามินบีเสริม จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรทุกครั้ง ก่อนตัดสินใจบริโภควิตามินบีในรูปแบบดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vitamin B. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/vitamin-b#types-of-vitamin-b. Accessed November 29, 2021

B Vitamins. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/vitamins/vitamin-b/. Accessed November 29, 2021

B vitamins and folic acid. https://www.nhs.uk/conditions/vitamins-and-minerals/vitamin-b/. Accessed November 29, 2021

Dietary Supplement Fact Sheets. https://ods.od.nih.gov/factsheets/list-all/. Accessed November 29, 2021

B Vitamins. https://medlineplus.gov/bvitamins.html. Accessed November 29, 2021

Water-Soluble vs. Fat-Soluble Vitamins. https://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/fat-soluble-vitamins-vs-water-soluble-vitamins. Accessed November 29, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/12/2021

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีเลือกวิตามินและอาหารเสริม เลือกยังไงให้ดี เลือกแบบไหนถึงจะปลอดภัย

อาหาร 5 หมู่ และสารอาหารสำคัญต่อร่างกาย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 08/12/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา