backup og meta

สรรพคุณขิง มีอะไรบ้าง และข้อควรระวังการบริโภค

สรรพคุณขิง มีอะไรบ้าง และข้อควรระวังการบริโภค

ขิง เป็นพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะเป็นข้อหรือปล้อง สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน นิยมนำมาประกอบอาหาร ชาสมุนไพร เครื่องเทศ และยา สรรพคุณขิงมีมากมายหลายประการ ทั้งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นการขับถ่าย

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของขิง

ขิงสด 2 กรัม ให้พลังงาน 1.6 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย ดังนี้

  • โพแทสเซียม 8.3 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 0.86 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 0.68 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 0.32 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 0.1 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ขิงยังอุดมไปด้วยสังกะสี แมงกานีส ทองแดง วิตามินบี 1 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 ที่อาจให้ประโยชน์แก่ร่างกาย และอาจช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้เป็นไปตามปกติ เช่น หัวใจ กล้ามเนื้อ ระบบประสาท ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาให้คำแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานขิงมากเกิน 4 กรัม/วัน เพราะอาจส่งผลให้เกิดผลข้า’เคียงต่อทางเดินอาหาร และก่อให้เกิดอาการแพ้ได้

สรรพคุณขิง มีอะไรบ้าง

ขิงมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณขิงในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยบำรุงกระดูก

ขิงมีโพแทสเซียม วิตามินซี และสังกะสี ซึ่งเป็นสารอาหารที่อาจช่วยบำรุงกระดูก เพิ่มมวลกระดูก ทำให้กระดูกไม่เปราะบางหรือแตกหักง่าย และอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนได้ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of International ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ทำการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของความหนาแน่นของมวลกระดูกกับการรับประทานผักที่มีเบต้าแคโรทีน โฟเลต โพแทสเซียม สังกะสี และวิตามินซี โดยทำการทดสอบกับสตรีในช่วงวัยหมดประจำเดือน 189 คน พบว่า การรับประทานอาหารที่มีอุดมไปด้วยสารอาหารเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มมวลกระดูกบริเวณสันหลัง คอ ต้นขา และสะโพก

  • ปรับปรุงการทำงานของระบบย่อยอาหาร

การรับประทานขิงอาจช่วยกระตุ้นการเคลื่อนที่ของอาหารจากกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้ และอาจช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้ จากการศึกษาในวารสาร World Journal of Gastroenterology ปี พ.ศ.2554 ที่ศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณขิงต่อการขับถ่ายและอาการของโรคกระเพาะอาหารแปรปรวน ซึ่งทำการทดสอบในผู้เข้าร่วมการทดสอบที่มีอาการอาหารไม่ย่อย จำนวน 11 ราย โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบรับประทานขิงในรูปแบบแคปซูล 3 แคปซูล จากนั้นให้รับประทานซุปที่มีสารอาหารต่ำในปริมาณ 500 มิลลิลิตร และรอเวลา 1 ชั่วโมง พบว่า ขิงอาจช่วยกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้อาหารเคลื่อนที่จากกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้ได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการท้องอืดและกระตุ้นการขับถ่ายได้

  • อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ขิงมีสารอาหารมากมาย เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัสที่มีคุณสมบัติช่วยควบคุมการทำงานอวัยวะส่วนต่าง ๆ รวมถึงหัวใจให้เป็นไปตามปกติ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่  จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Iranian Journal of Pharmaceutical Research ปี พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับผลของการรับประทานขิงต่อระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ค่าน้ำตาลสะสมในเลือด (Hemoglobin A1c) อะโพลิโพโปรตีน บี (Apolipoprotein B) อะโพลิโพโปรตีน เอ 1 (Apolipoprotein A-I) และ มาลอนไดดีไฮด์ (Malondialdehyde) ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยทำการทดลองให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งหมด 41 ราย รับประทานขิงในรูปแบบอาหารเสริม 2 กรัม/วัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ขิงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดรวมถึงอะโพลิโพโปรตีน บี ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลไม่ดี ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวาน  และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

ขิงมีวิตามินซีที่อาจช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ทำให้สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อก่อโรคต่าง ๆ และสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้  การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวิตามินซีและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน พบว่า วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยสนับสนุนการทำงานของส่วนต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังช่วยเสริมสร้างการทำงานของเยื่อบุผิวให้สามารถต่อต้านการติดเชื้อโรค ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระที่อาจส่งผลให้เซลล์เสื่อมสภาพ และยังอาจช่วยป้องกันและบรรเทาอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจได้

ข้อควรระวังในการบริโภคขิง

การรับประทานขิงในรูปแบบอาหาร และรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม มักมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ก็อาจเกิดผลข้างเคียงในบางคน เช่น ผื่นคัน มีแก๊สในกระเพาะอาหาร จุกเสียดท้อง ท้องเสีย ระคายเคืองในช่องปาก

การรับประทานขิงในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา สำหรับผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) วาร์ฟาริน (Warfarin) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือดได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรระมัดระวังการรับประทานขิง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลิน เพื่อความปลอดภัยจึงควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนรับประทาน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Health Benefits of Ginger. https://www.webmd.com/diet/ss/slideshow-health-benefits-ginger. Accessed April 28, 2022

Ginger Benefits. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/ginger-benefits. Accessed April 28, 2022

Ginger. https://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/ginger-uses-and-risks. Accessed April 28, 2022

Ginger root, raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/169231/nutrients. Accessed April 28, 2022

Effect of ginger on gastric motility and symptoms of functional dyspepsia. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3016669/. Accessed April 28, 2022

The Effects of Ginger on Fasting Blood Sugar, Hemoglobin A1c, Apolipoprotein B, Apolipoprotein A-I and Malondialdehyde in Type 2 Diabetic Patients.  https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4277626/. Accessed April 28, 2022

Vitamin C and Immune Function https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5707683/. Accessed April 28, 2022

Relationship between bone mineral density and dietary intake of β-carotene, vitamin C, zinc and vegetables in postmenopausal Korean women: a cross-sectional study. https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/0300060516662402. Accessed April 28, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/04/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ว่านหางจระเข้ สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ขิง ช่วยลดอาการแพ้ท้องได้จริงหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา