backup og meta

หอมแดง ประโยชน์และความเสี่ยงในการบริโภค

หอมแดง ประโยชน์และความเสี่ยงในการบริโภค

หอมแดงเป็นพืชผักสวนครัวที่นิยมใช้ประกอบอาหารไทย มีลักษณะเป็นหัวทรงกลมหรือทรงรี มีเปลือกหุ้มสีแดงอมม่วง กลิ่นฉุน รสชาติหวานและเผ็ด อุดมไปด้วยสารอาหารอย่างคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไฟเบอร์ และสารประกอบจากพืชที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาจช่วยป้องกันลิ่มเลือด ต้านเชื้อโรค บรรเทาอาการภูมิแพ้ เช่น แก้หวัด คัดจมูก ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน การรับประทานหอมแดงจึงอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพ อย่างไรก็ตาม สารประกอบบางชนิดในหอมแดงอาจทำให้เกิดอาการแพ้ในบางคนได้

[embed-health-tool-bmr]

คุณค่าทางโภชนาการของหอมแดง

หอมแดง 100 กรัม หรือประมาณ 10 ช้อนโต๊ะ อาจมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

  • พลังงาน 75 กิโลแคลอรี่
  • น้ำ 89%
  • คาร์โบไฮเดรต 17 กรัม
  • ไฟเบอร์ 3 กรัม
  • โปรตีน 2.5 กรัม

หอมแดงมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเต็มไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ  เช่น วิตามินบี เหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สังกะสี ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย

ประโยชน์ต่อสุขภาพของหอมแดง

หอมแดงมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนสรรพคุณของหอมแดงต่อการป้องกันและรักษาโรค ดังนี้

ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้

หอมแดงอุดมไปด้วยสารเควอซิทิน (Quercetin) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยการป้องกันการอักเสบ ป้องกันแบคทีเรีย และไวรัส ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค ที่อาจช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากสภาพอากาศตามฤดูกาลได้  เช่น แก้หวัด คัดจมูก

งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Asian Pacific Journal of Allergy and Immunology  ปี พ.ศ.2562 ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านอาการแพ้และประสิทธิภาพในการรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ของหอมแดง พบว่า หอมแดงมีฤทธิ์ช่วยต้านอาการแพ้ เนื่องจากมีสารเควอซิทินในปริมาณสูงที่อาจช่วยยับยั้งอาการแพ้ โดยเพิ่มภูมิต้านทานโรคเพื่อป้องกันการอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ช่วยลดอาการแพ้ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ สำหรับการรักษาจึงควรรับประทานหอมแดงร่วมกับยาเซทิริซีน (Cetirizine) ขนาดมาตรฐาน ซึ่งเป็นยาต้านสารฮิสตามีนเพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้  อาจมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการแพ้ดีกว่าการใช้ยาเซทิริซีนเพียงอย่างเดียวในการรักษา

ส่งเสริมสุขภาพหัวใจและการไหลเวียนเลือด

หอมแดงเป็นแหล่งของสารไธโอซัลฟิเนต (Thiosulfinates) ซึ่งเป็นกลุ่มของสารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ (Organosulfur) ที่อาจช่วยยับยั้งการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด และอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนได้อย่างเป็นปกติและอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ.2561  ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของการรับประทานผักบางชนิดต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด พบว่า สารไธโอซัลฟิเนตที่มักพบในผักตระกูลอัลเลียม (Allium) เช่น กระเทียม หัวหอม หอมแดง กระเทียมหอม กุ้ยช่าย อาจมีคุณสมบัติช่วยการยับยั้งการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือดที่อาจนำไปสู่ลิ่มเลือด จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด

ต้านเชื้อโรค

หอมแดงมีส่วนประกอบสารบางชนิด เช่น อัลลิซิน อัลลิลเมทิลซัลไฟด์ (Allicin Allylmethyl Sulfide) ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพจึงช่วยต้านเชื้อรา แบคทีเรียและเชื้อไวรัส และสารอาโจอีน (Ajoene) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระมีคุณสมบัติต้านการเกิดลิ่มเลือด ช่วยป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือดจนกลายเป็นลิ่มเลือดซึ่งอาจลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Iranian Journal of Basic Medical Sciences ปี พ.ศ.2556  ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของกระเทียมและหอมแดง พบว่า หอมแดงมีสารประกอบหลายชนิด เช่น อัลลิซิน อัลลิลเมทิลซัลไฟด์ และอาโจอีน ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพ ช่วยต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด  ลดความดันโลหิตและคอลเลสเตอรอลซึ่งส่งผลดีต่อหลอดเลือดหัวใจ ต้านการอักเสบที่เกิดจากการทำลายของอนุมูลอิสระส่งผลให้ลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง และมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

อาจช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด

สารสกัดจากหอมแดง (Allium cepa) อาจมีฤทธิ์ช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ โดยงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Insights ปี พ.ศ. 2553 ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพการลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัดจากหอมแดงในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 โดยทดลองให้ผู้ที่เป็นเบาหวานรับประทานหัวหอมดิบ 100 กรัม/วัน พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารลดลง 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงประมาณ 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงอาจเหมาะสำหรับรับประทานเป็นอาหารเสริมเพื่อช่วยจัดการกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2

ข้อควรระวังในการรับประทานหอมแดง

ข้อควรระวังในการรับประทานหอมแดง มีดังนี้

อาการแพ้

บางคนอาจมีปฏิกิริยาแพ้หัวหอมอย่างรุนแรง หลังจากรับประทานหัวหอมดิบหรือหัวหอมปรุงสุก โดยรายงานผู้ป่วยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Allergologiaet Immunopathologia ปี พ.ศ. 2543  พบว่า ผู้ป่วยหญิงวัย 44 ปี ไม่มีอาการแพ้จากการรับประทานหัวหอมที่ปรุงสุก แต่มีอาการแพ้หลังจากการรับประทานหัวหอมดิบหรือผ่านการปรุงสุกเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง เช่น อาการคันรุนแรง ลมพิษ สับสน มองเห็นภาพซ้อน หมดสติชั่วคราว เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีการยืนยันจากงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Advances in Dermatology and Allergology ปี พ.ศ. 2562 พบว่า หัวหอมที่ปรุงสุกแล้วสามารถทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นเพราะหัวหอมมีสารก่อภูมิแพ้ที่ทนความร้อนได้

ระคายเคืองตาและปาก

ในหัวหอมประกอบด้วยเอนไซม์อัลลิอิเนส (Alliinase) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ส่งผลต่อรสชาติ และเมื่อหั่นหรือกัดหัวหอมจะปล่อยก๊าซที่อาจทำให้เกิดอาการแสบตาหรือระคายเคืองปากได้

งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ปี พ.ศ. 2545  ทำการวิจัยถึงเอนไซม์หัวหอมที่ทำให้น้ำตาไหล พบว่า หัวหอมประกอบด้วยเอนไซม์อัลลิอิเนส ซึ่งเป็นสารประกอบที่ส่งผลต่อรสชาติที่เป็นลักษณะเฉพาะของหัวหอม ซึ่งอาจสังเคราะห์ก๊าซที่ทำให้มีอาการน้ำตาไหลเมื่อหั่นหัวหอม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Preliminary Study of the Clinical Hypoglycemic Effects of Allium cepa (Red Onion) in Type 1 and Type 2 Diabetic Patients. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21079693/. Accessed January 13, 2022

Antiallergic activities of shallot (Allium ascalonicum L.) and its therapeutic effects in allergic rhinitis. http://apjai-journal.org/wp-content/uploads/2019/08/AP-300319-0529.pdf. Accessed January 13, 2022

Cardiovascular Health Benefits of Specific Vegetable Types: A Narrative Review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5986475/. Accessed January 13, 2022

Therapeutic Uses and Pharmacological Properties of Garlic, Shallot, and Their Biologically Active Compounds. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3874089/. Accessed January 13, 2022

An onion enzyme that makes the eyes water. https://www.nature.com/articles/419685a. Accessed January 13, 2022

Anaphylactic reaction to the ingestion of raw onion. A case report. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11270091/. Accessed January 13, 2022

Immunological characterization of onion (Allium cepa) allergy. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6409889/. Accessed January 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/02/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ส้มเขียวหวาน สารอาหาร ประโยชน์ และความเสี่ยงในการบริโภค

สารอาหาร และปริมาณที่ควรได้รับ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา