backup og meta

อินทผาลัมสด ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

อินทผาลัมสด ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

อินทผาลัม หรือ อินทผลัม เป็นพืชตระกูลปาล์ม ซึ่งนิยมปลูกในหลายทวีปทั่วโลกทั้งแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ คนส่วนใหญ่นิยมรับประทานอินทผาลัมแห้ง แต่อินทผาลัมสดนั้นให้พลังงานและมีน้ำตาลน้อยกว่า โดยทั่วไป อินทผาลัมสด มักมีรสชาติหวานและฝาด เปลือกมีสีเหลืองไปจนถึงแดงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ทั้งนี้ อินทผาลัมอุดมไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามินมากมาย เช่น ไฟเบอร์ ทองแดง แมงกานีส วิตามินบี 6 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของ อินทผาลัมสด

อินทผาลัมสด 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 277 กิโลแคลอรี่ มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 21.3 กรัม และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 75 กรัม
  • โปรตีน 1.81 กรัม
  • ไขมัน 0.15 กรัม
  • โพแทสเซียม 696 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 64 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 54 มิลลิกรัม
  • โคลีน (Choline) 9.9 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ อินทผาลัมสดยังให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย เช่น เหล็ก แมงกานีส ซีลีเนียม วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 เบตา-แคโรทีน โฟเลต

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ อินทผาลัมสด

อินทผาลัมสด ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของอินทผาลัมสด ดังนี้

1.อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

อินทผาลัมอุดมไปด้วยไฟเบอร์หรือใยอาหาร ซึ่งมีคุณสมบัติชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลไม่สูงขึ้นเร็วเกินไป การบริโภคอินทผาลัมสด จึงอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับผลกระทบของผลอินทผาลัมต่อระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน ตีพิมพ์ในวารสาร Pakistan Journal of Medical Sciences ปี พ.ศ. 2564 โดยศึกษาข้อมูลจากบทความในงานวิจัยที่เผยแพร่ในทวีปเอเชียจำนวน 942 ชิ้น พบว่า มีอาสาสมัครในกลุ่มทดลองจำนวน 390 รายที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และได้บริโภคอินทผาลัมสดเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 1 วัน-12 สัปดาห์ และได้มีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดในอาสาสมัครเหล่านั้น พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง จึงสรุปว่า อินทผาลัมมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และอาจมีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

2.อาจช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก

อินทผาลัม มีสารประกอบอินทรีย์ที่ชื่อว่าเอทิล อาเซเตด (Ethyl Acetate) ซึ่งงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นสนับสนุนว่า เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง การบริโภคอินทผาลัม จึงอาจช่วยป้องกันมะเร็งหรือต้านการเติบโตของเนื้อร้ายได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยคุณสมบัติของเอทิล อาเซเตดในอินทผาลัมพันธุ์อัจวะห์ (Ajwa) ต่อการตายของเซลล์และการหยุดวงจรชีวิตของเซลล์ในเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก เผยแพร่ในวารสาร Journal of Ethnopharmacology ปี พ.ศ. 2561 โดยทำการเพาะเลี้ยงเซลล์และทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ พบว่าเอทิล อาเซเตด อาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากมีประสิทธิภาพกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง และหยุดวงจรชีวิตของเซลล์มะเร็งในระยะการสังเคราะห์ดีเอ็นเอได้

ทั้งนี้ ยังเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดสอบในสัตว์และมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันคุณสมบัติของอินทผาลัมในการต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก

3.อาจช่วยให้คลอดลูกแบบธรรมชาติง่ายขึ้น

อินทผาลัมสดเป็นแหล่งพลังงานชั้นดี มีคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลในปริมาณที่พอดี อีกทั้งสารอาหารและสารประกอบต่าง ๆ ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนความรักซึ่งจำเป็นต่อการคลอดบุตร การบริโภคอินทผาลัม จึงอาจช่วยส่งเสริมการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกให้มีระยะห่างที่สม่ำเสมอ และไม่ถี่หรือห่างเกินไปซึ่งช่วยให้การคลอดแบบธรรมชาติ เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจช่วยป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอด

การศึกษาชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของอินทผาลัมต่อระยะเวลาในการคลอดแบบธรรมชาติ ของหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้ายที่ไม่เคยคลอดบุตรมาก่อน เผยแพร่ในวารสาร Iranian Journal of Nursing and Midwifery Research ปี พ.ศ. 2560 โดยมีการตั้งสมมติฐานว่า การบริโภคอินทผาลัมอาจมีส่วนช่วยส่งเสริมการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก จึงได้ทำการทดลองโดยแบ่งอาสาสมัครซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์ อายุ 18-35 ปี จำนวน 182 ราย ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 91 ราย โดยกลุ่มแรกบริโภคอินทผาลัม 70-76 กรัม/วัน จากสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอด ส่วนอีกกลุ่มไม่บริโภคอินทผาลัมเพิ่มเติม แล้วเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะเวลาขณะที่คลอดแบบธรรมชาติ ผลลัพธ์ที่พบคือ ระยะเวลาคลอดโดยเฉลี่ย ของผู้หญิงกลุ่มที่บริโภคอินทผาลัม น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้บริโภคอินทผาลัมอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความจำเป็นในการใช้ฮอร์โมนออกซิโทซินเพื่อกระตุ้นช่วยให้คลอดง่ายขึ้นก็น้อยกว่าเช่นกัน

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การบริโภคอินทผาลัมอาจมีคุณสมบัติส่งเสริมการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และทำให้คลอดง่ายขึ้น

4.อาจมีฤทธิ์ต้านจุลชีพได้

อินทผาลัม อุดมไปด้วยใยอาหารและเป็นแหล่งสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งและต้านจุลินทรีย์ต่าง ๆ และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังและโรคทางลำไส้ การบริโภคอินทผาลัมจึงอาจช่วยต้านแบคทีเรียที่อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังและลำไส้ได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องฤทธิ์ของน้ำเชื่อมอินทผาลัม ในการต้านแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus Aureus หรือ S.aureus) และแบคทีเรียเอสเชอริเดียโคไล (Escherichia Coli หรือ E. coli) ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Microbiology ปี พ.ศ. 2559 ระบุว่า น้ำเชื่อมอินทผาลัมมีสารโพลีฟีนอล ซึ่งอาจมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียสแตปฟิโลค็อกคัสออเรียสที่เป็นสาเหตุของโรคอักเสบทางผิวหนัง และแบคทีเรียอีโคไลซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและโรคท้องเดิน ด้วยการก่อห้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่นในแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดสอบในสัตว์และมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันคุณสมบัติต้านแบคทีเรียของอินทผาลัม

นอกจากนั้น งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติและสารประกอบของอินทผาลัมต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร การสร้างและการสลายตัวของแบคทีเรีย และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ เผยแพร่ในวารสาร Journal of Nutritional Science พ.ศ. 2557 โดยทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่า สารโพลีฟีนอล ในอินทผาลัมมีคุณสมบัติในการช่วยลดการเจริญเติบโตของจำนวนจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายแบคทีเรีย และยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่

ข้อควรระวังในการบริโภคอินทผาลัมสด

อินทผาลัมสด เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยน้ำตาลฟรักโทสและมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low Glycemic Index)  การบริโภคอินทผาลัม จึงอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นไม่มากนัก และค่อนข้างปลอดภัยต่อผู้ป่วยเบาหวานหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากรับประทานในปริมาณมากอาจทำให้ปวดท้อง หรือท้องเสียได้

นอกจากนั้น อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น คันบริเวณปากหรือลิ้น ไอ จาม โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติแพ้พืชในตระกูลปาล์ม

สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคอินทผาลัมได้อย่างปลอดภัย และได้รับการแนะนำให้บริโภคในช่วงไตรมาสสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมาก และควรบริโภคผักและผลไม้ให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายและได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dates fruits effects on blood glucose among patients with diabetes mellitus: A review and meta-analysis. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8281151/. Accessed May 30, 2022

Dates, medjool. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/168191/nutrients. Accessed May 30, 2022

Induction of apoptosis and cell cycle arrest by ethyl acetate fraction of Phoenix dactylifera L. (Ajwa dates) in prostate cancer cells. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0378874117342952. Accessed May 30, 2022

Effect of Dates in Late Pregnancy on the Duration of Labor in Nulliparous Women. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29033994/. Accessed May 30, 2022

The Antibacterial Activity of Date Syrup Polyphenols against S. aureus and E. coli. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4768629/. Accessed May 30, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/06/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคขาดสารอาหาร สาเหตุ อาการ และการรักษา

กระเจี๊ยบเขียว สารอาหาร และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา