backup og meta

เห็ดหอม ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ

เห็ดหอม ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ

เห็ดหอม มีแคลอรี่ต่ำและอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารอย่างวิตามินและแร่ธาตุ จึงนิยมนำมาประกอบอาหารและใช้เป็นยาในการแพทย์แผนจีนมายาวนาน ประโยชน์สุขภาพที่อาจได้รับจากการบริโภคเห็ดหอม เช่น ส่งเสริมสุขภาพหัวใจ การไหลเวียนเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน กระดูก และอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้ด้วย

คุณค่าทางโภชนาการของเห็ดหอม

เห็ดหอมมีแคลอรี่ต่ำ ทั้งยังมีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด โดยเห็ดหอมสด 100 กรัม (ประมาณ ½ ถ้วย) ให้พลังงานประมาณ 34 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหาร ดังต่อไปนี้

  • ไฟเบอร์ 2.5 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 6.8 กรัม
  • ไขมัน 0.5 กรัม
  • โปรตีน 2.2 กรัม
  • โซเดียม 9 มิลลิกรัม
  • น้ำตาล 2 กรัม

อีกทั้งเห็ดหอมยังมี โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ซีลีเนียม ไนอาซิน สังกะสี ทองแดง ไทอามีน ไรโบฟลาวิน โฟเลต เหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินดี และวิตามินบี 6 เป็นต้น

นอกจากนี้ เห็ดหอมยังมีกรดอะมิโนที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และมีพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เทอร์พีนอยด์ (Terpenoids) สเตอรอล (Sterols) และลิพิด (Lipids) ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดคอเลสเตอรอล และอาจช่วยต้านมะเร็งได้

ประโยชน์ของเห็ดหอม

เห็ดหอมอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

ส่งเสริมสุขภาพหัวใจ

เห็ดหอมมีสารอิริตาดีนีน (Eritadenine) ที่ช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคอเลสเตอรอล จึงอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และมีเบต้ากลูเคน (Beta-glucans) ที่ช่วยลดอาการอักเสบและลดคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ ยังมีสเตอรอล (Sterols) ช่วยป้องกันการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้

เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

เห็ดหอมอุดมไปด้วยสารประกอบพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) เช่น เลนติแนน (Lentinan) เบต้ากลูแคน (Beta-glucans) ที่ช่วยป้องกันเซลล์เสียหาย เสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และเพิ่มการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อต่อสู้กับจุลินทรีย์ นอกจากนี้ โพลีแซ็กคาไรด์ยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบด้วย

มีสารประกอบที่อาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง

โพลิแซ็กคาไรด์ เช่น เลนติแนน (Lentinan) อาจมีส่วนช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดเนื้องอก และอาจมีส่วนช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว จึงอาจช่วยต้านมะเร็งได้

อาจช่วยเสริมสร้างกระดูก

เห็ดหอม 100 กรัม มีทองแดงตามธรรมชาติประมาณ 72% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน โดยทองแดงมีส่วนช่วยบำรุงเลือด กระดูก และระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ เห็ดหอมยังเป็นแหล่งวิตามินดีที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก อย่างไรก็ตาม ปริมาณวิตามินดีในเห็ดอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับวิธีการปลูก และการสัมผัสกับแสงยูวี ยิ่งเห็ดหอมสัมผัสแสงยูวีมากเท่าไหร่ ก็อาจยิ่งมีปริมาณสารประกอบมากขึ้นตามไปด้วย

ข้อควรระวังในการบริโภคเห็ดหอม

การรับประทานเห็ดหอม อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้สำหรับบางคน แต่กรณีนี้พบได้ไม่บ่อยนัก เนื่องจากบางคนอาจมีอาการแพ้สารเลนติแนน (Lentinan) ซึ่งเป็นสารประกอบสำคัญในเห็ดหอม ที่อาจกระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ส่งผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกัน บางคนที่แพ้สารเลนติแนนอาจมีอาการผิวหนังอักเสบ คัน และไม่สบายตัว แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การนำเห็ดหอมมาปรุงสุกอาจช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่อาจลดประโยชน์จากสารอาหารในเห็ดหอมลงเช่นกัน

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Shiitake Mushrooms: Health Benefits, Nutrition, and Uses. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-shiitake-mushrooms#1. Accessed November 10, 2021

Shiitake mushroom Nutrition facts. https://www.nutrition-and-you.com/shiitake-mushroom.html. Accessed November 10, 2021

Mushrooms, raw, shiitake. https://www.nutritionvalue.org/Mushrooms%2C_raw%2C_shiitake_nutritional_value.html. Accessed November 10, 2021

Determination of Glucan Contents in the Fruiting Bodies and Mycelia of Lentinula edodes Cultivars. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25346611/. Accessed November 10, 2021

Vitamin D and sterol composition of 10 types of mushrooms from retail suppliers in the United States. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21663327/. Accessed November 10, 2021

Recent developments in mushrooms as anti-cancer therapeutics: a review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3339609/. Accessed November 10, 2021

Polysaccharides in Lentinus edodes: isolation, structure, immunomodulating activity and future prospective. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24236998/. Accessed November 10, 2021

Edible mushrooms: Role in the prevention of cardiovascular diseases. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0367326X10001358. Accessed November 10, 2021

A Review on General Nutritional Compounds and Pharmacological Properties of the Lentinula edodes Mushroom. https://www.scirp.org/journal/PaperInformation.aspx?PaperID=47339. Accessed November 10, 2021

Shiitake dermatitis: a report of 3 cases and review of the literature. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23837150/. Accessed November 10, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/11/2021

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

สารอาหาร และปริมาณที่ควรได้รับ

ระบบย่อยอาหาร หน้าที่และความสำคัญ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 15/11/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา