backup og meta

แตงไทย ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

แตงไทย ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

แตงไทย เป็นผลไม้รสหวานทรงกลมหรือทรงรี มีเนื้อสีเหลืองและสีเขียว อุดมไปด้วยวิตามิน ไฟเบอร์ และสารอาหารอีกหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ดีต่อระบบย่อยอาหาร ให้ความชุ่มชื้นและดีต่อสุขภาพผิว ช่วยลดการอักเสบ

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของแตงไทย

แตงไทย ปริมาณ 170 กรัม ให้พลังงานประมาณ 61 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม
  • ไฟเบอร์ 1.5 กรัม
  • โปรตีน 1 กรัม
  • วิตามินซี 34% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน
  • วิตามินเอ 2% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน
  • วิตามินบี 6 9% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน
  • วิตามินเค 4% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน

นอกจากนี้ แตงไทยยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กรดแกลลิก (Gallic Acid) กรดเอลลาจิก (Ellagic Acid) กรดคาเฟอิก (Caffeic Acid) โพแทสเซียม โฟเลต ไนอาซิน แมกนีเซียม ไทอามีน

ประโยชน์ของแตงไทย

แตงไทยมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของแตงไทยในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อาจช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

แตงไทยอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทั้งยังช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ วิตามินเอในแตงไทย ยังช่วยป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อและโรคต่าง ๆ ได้ด้วย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Clinical Biochemistry เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 วิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของวิตามินซีในการป้องกันและรักษาโรค พบว่า วิตามินซีจำเป็นต่อการพัฒนาและบำรุงรักษาเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระดูก การสมานแผล บำรุงเหงือกให้แข็งแรง ส่งเสริมการทำงานของเมตาบอลิซึม ช่วยกระตุ้นการทำงานวิตามินบี กรดโฟลิก การเปลี่ยนโคเลสเตอรอลเป็นกรดน้ำดี และการเปลี่ยนทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็นไปเป็นสารสื่อประสาทอย่างเซโรโนนิน (Serotonin) นอกจากนี้ ยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ปกป้องร่างกายจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องระบบภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงของอาการแพ้ ช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ และอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท

  1. อาจช่วยส่งเสริมการย่อยอาหาร

แตงไทยอุดมด้วยไฟเบอร์และน้ำในปริมาณมาก ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของระบบการย่อยอาหารและลำไส้ ทั้งยังช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 วิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของใยอาหารต่อสุขภาพ พบว่า การบริโภคใยอาหารเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อการเผาผลาญ ช่วยควบคุมความอยากอาหาร ส่งผลดีต่อสุขภาพลำไส้ การเคลื่อนไหวของลำไส้ สุขภาพทางเดินอาหารและการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีหน้าที่ช่วยย่อยอาหาร

  1. อาจช่วยลดการอักเสบ

แตงไทยอุดมไปด้วยวิตามินซีและวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบจากการทำลายของอนุมูลอิสระในร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Proceedings of the Nutrition Society เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 วิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิตามินเอในการต้านการอักเสบ พบว่า วิตามินเอมีบทบาทสำคัญต่อการบำรุงรักษาเนื้อเยื่อบุผิว สุขภาพดวงตา การสืบพันธุ์และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ ยังมีบทบาทช่วยต่อต้านการอักเสบของร่างกาย เช่น สิวอักเสบ โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ริ้วรอยก่อนวัย สายตาเสื่อมตามอายุ มะเร็งบางชนิด

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Mini-Reviews in Medicinal Chemistry เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 วิจัยเกี่ยวกับกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid) ที่มีบทบาทในระบบภูมิคุ้มกันและโรคอักเสบเรื้อรัง พบว่า กรดแอสคอร์บิกหรือวิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ต้านไวรัสและแบคทีเรีย

  1. อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก

แตงไทยเป็นผลไม้ที่มีแคลอรี่ต่ำ อุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด วิตามินและแร่ธาตุสูง รวมทั้งยังมีปริมาณน้ำและไฟเบอร์สูง ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการลดและควบคุมน้ำหนัก โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Nutrition เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 วิจัยเกี่ยวกับการบริโภคใยอาหารกับปริมาณน้ำหนักและไขมันในผู้หญิง พบว่า การบริโภคใยอาหารมากขึ้นทั้งใยอาหารแบบละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ ส่งผลดีต่อการลดน้ำหนักและไขมันในผู้หญิง

  1. อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและดีต่อสุขภาพผิว

แตงไทยมีน้ำปริมาณมาก ซึ่งช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย และยังอุมดมไปด้วยวิตามินซีที่ดีต่อสุขภาพผิว ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนและป้องกันผิวจากการทำร้ายของแสงแดด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 วิจัยเกี่ยวกับบทบาทของวิตามินซีต่อสุขภาพผิว  พบว่า วิตามินซีมีบทบาทสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์คอลลาเจน และทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันความเสียหายของผิวที่เกิดจากการทำร้ายจากรังสียูวีในแสงแดด

ข้อควรระวังในการบริโภคแตงไทย

แตงไทยอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายแต่อาจไม่เหมาะกับบางคน หรือหากรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยแตงไทยมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ การรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ท้องอืด เกิดแก๊ส และท้องเสียได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ethnopharmacology เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 วิจัยเกี่ยวกับการใช้สารสกัดจากแตงไทยสำหรับอาการท้องอืดและท้องผูก พบว่า สารสกัดจากแตงไทยอย่างเอทานอล (Ethanol) อาจช่วยเพิ่มการบีบตัวของทางเดินอาหาร ซึ่งอาจส่งผลดีสำหรับอาการท้องอืดและท้องผูก ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ การรับประทานแตงไทยมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ทั้งยังไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากแตงไทยมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ ดังนั้น อาจต้องรับประทานแตงไทยในประมาณที่เหมาะสม หรือปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pharmacological basis for the medicinal use of muskmelon base (Pedicellus Melo.) for abdominal distention and constipation. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22543170/. Accessed March 3, 2022

Vitamin A as an anti-inflammatory agent. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/12230799/. Accessed March 3, 2022

Vitamin C in Disease Prevention and Cure: An Overview. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC3783921/. Accessed March 3, 2022

Ascorbic acid: its role in immune system and chronic inflammation diseases. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24766384/. Accessed March 3, 2022

Increasing total fiber intake reduces risk of weight and fat gains in women. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19158230/. Accessed March 3, 2022

The Health Benefits of Dietary Fibre. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC7589116/. Accessed March 3, 2022

The Roles of Vitamin C in Skin Health. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC5579659/. Accessed March 3, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/01/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

แก้วมังกร สารอาหาร ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ส้มเขียวหวาน สารอาหาร ประโยชน์ และความเสี่ยงในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา