แห้ว หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า สมหวัง เป็นพืชหัวที่ขึ้นในหนองน้ำ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเดิมมีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเก็บเกี่ยวได้ก็ต่อเมื่อหัวของมันเริ่มเป็นสีน้ำตาลเข้ม
แห้วเป็นพืชที่เนื้อสัมผัสกรอบหวาน สามารถนำมาปรุงอาหารได้ทั้งคาวและหวาน เช่น ทำหอยจ้อ ทับทิมกรอบ แห้วเชื่อม นอกจากความอร่อยแล้วแห้วยังเป็นพืชที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารมากมาย วันนี้ Hello คุณหมอ มีคุณค่าทางโภชนาการน่าอ่านของแห้วมานำเสนอทุกคนค่ะ
คุณค่าทางโภชนาการของ แห้ว
แห้วเป็นพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย แห้วปริมาณ 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
พลังงาน 97 กิโลแคลอรี่
ไขมัน 0.1 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 23.9 กรัม
ไฟเบอร์ 3 กรัม
โปรตีน 2 กรัม
โพแทสเซียม 17% ของปริมาณที่ต้องการต่อวัน
แมงกานีส 17% ของปริมาณที่ต้องการต่อวัน
ทองแดง 16% ของปริมาณที่ต้องการต่อวัน
วิตามินบี 6 16% ของปริมาณที่ต้องการต่อวัน
วิตามินบี 2 12% ของปริมาณที่ต้องการต่อวัน
ประโยชน์ของแห้ว หรือ สมหวัง
แห้วเป็นพืชที่ปลูกในที่ลุ่ม ชุ่มน้ำ สามารถรับประทานแบบดิบหรือนำมาปรุงอาหารก็ได้ แห้วมีรสชาติหวานอ่อน ๆ เคี้ยวแล้วมีความกรุบกรอบ ที่สำคัญแห้วเป็นพืชที่มีไฟเบอร์สูง นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพอีกหลายชนิด
ต่อสู้กับการอักเสบของร่างกาย
แห้วมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ที่ช่วยในการซ่อมแซมเซลล์ที่เกิดการเสียหายและการอักเสบในร่างกาย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้มักจะอยู่ในเปลือกแห้ว
อุดมไปด้วยไฟเบอร์
ไฟเบอร์เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายเป็นอย่างมาก การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์นั้นช่วยให้อิ่มเร็ว สำหรับใครที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนัก การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้ ที่สำคัญอาหารที่มีไฟเบอร์ยังช่วยในการย่อยอาหาร ลดอาการท้องผูก และยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับคเลสเตอรอลได้อีกด้วย
ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
แห้วปริมาณหนึ่งถ้วยครึ่ง จะมีสารอาหารโพแทสเซียมมากถึงร้อยละ 7 จากปริมาณที่ต้องการต่อวัน จากการวิจัยพบว่า หากร่างกายได้รับปริมาณโพแทสเซียมเพียงพอ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
แห้ว ช่วยลดความดันโลหิต
เมื่อร่างกายมีภาวะความดันโลหิตสูง อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้หลายประการ เช่น โรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ ซึ่งโพแทสเซียมซึ่งเป็นสารอาหารที่มีอยู่ในแห้วนั้น มีส่วนช่วยในการลดความดันโลหิต จากการทบทวนการศึกษาในปี 2013 พบว่าการเพิ่มปริมาณโพแทสเซียมสามารถช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้
แห้วไม่ได้พืชตระกูล ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้ถั่วสามารถรับประทานแห้วได้อย่างปลอดภัย ที่สำคัญแห้วยังเป็นแหล่งของสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยม
[embed-health-tool-bmr]