backup og meta

อาหารที่ไม่มีประโยชน์ ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

อาหารที่ไม่มีประโยชน์ ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

อาหารที่ไม่มีประโยชน์ เป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปจนอาจทำให้ไม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เต็มไปด้วยโซเดียม น้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์มากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง

[embed-health-tool-bmr]

อาหารที่ไม่มีประโยชน์ คืออะไร

อาหารที่ไม่มีประโยชน์ คือ อาหารที่ขาดสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร รวมถึงเต็มไปด้วยโซเดียม น้ำตาล และไขมันอิ่มตัวที่มากเกินไป เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วอาจทำให้ผู้เสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น น้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคไขมันพอกตับ

ตัวอย่างอาหารที่ไม่มีประโยชน์และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ได้แก่

  • เบเกอรี่ เช่น เค้ก ขนมปังกรอบ ขนมอบ คุกกี้ คัพเค้ก โดนัท ช็อกโกแลต
  • อาหารจานด่วน เช่น เฟรนช์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า นักเก็ต
  • เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน แฮม ไส้กรอก
  • ของว่าง เช่น มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ ขนมบรรจุหีบห่อ ขนมกรุบกรอบ
  • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม น้ำหวานต่าง ๆ
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อาหารที่ไม่มีประโยชน์ ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

อาหารที่ไม่มีประโยชน์ส่วนใหญ่มีรสชาติอร่อยและดึงดูดใจ แต่เป็นอาหารที่เต็มไปด้วยน้ำตาล เกลือ ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง ซึ่งหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ ดังนี้

อาหารที่ไม่มีประโยชน์ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะสั้นอย่างไร

ปริมาณโซเดียมที่สูงมากในอาหารที่ไม่มีประโยชน์อาจทำให้ความดันโลหิตสูง และร่างกายเกิดภาวะบวมน้ำ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีปริมาณไขมันสูงยังอาจทำให้ไขมันสะสมอยู่ตามหลอดเลือดจนส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งอาจทำให้รู้สึกอึดอัด หงุดหงิด อ่อนล้า อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า นอนหลับยาก และสมาธิลดลง จนอาจพัฒนาไปเป็นความเครียดที่เพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้ น้ำตาลยังเป็นอาหารของแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งอาจทำให้เกิดคราบพลัค (Plaque) สะสมและอาจทำให้เกิดฟันผุได้

อาหารที่ไม่มีประโยชน์ส่งผลเสียต่อสุขภาพผลเสียในระยะยาวอย่างไร

อาหารที่ไม่มีประโยชน์เมื่อรับประทานเข้าไปเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอาหารไม่มีประโยชน์อาจมีปริมาณน้ำตาลที่สูง ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ร่างกายต้องผลิตอินซูลินออกมาเพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากปล่อยไว้อาจเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดปกติของการหลั่งอินซูลินและพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานได้
  • คอเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะอาหารทอด เช่น ไก่ทอด มันฝรั่งทอด เฟรนช์ฟรายส์ เต็มไปด้วยไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูงที่สามารถสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือด และอาจมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
  • ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด การรับประทานโซเดียมในปริมาณที่มากเกินไป และการสะสมของไขมันในหลอดเลือดอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน อาหารที่ไม่มีประโยชน์อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว น้ำตาลและโซเดียมสูง ซึ่งการรับประทานในปริมาณมากและเป็นเวลานาน อาจทำให้สะสมเป็นไขมันส่วนเกินในร่างกาย จนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้
  • โรคมะเร็ง การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อภายในร่างกาย นอกจากนี้ อาหารและเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ของทอด อาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารแปรรูปพร้อมทาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจมีสารก่อมะเร็ง ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็งได้
  • ภาวะซึมเศร้า การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ในปริมาณมาก และละเลยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โปรตีน ผัก ผลไม้ อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้าและอาจทำให้อารมณ์แปรปรวน หากปล่อยไว้อาจพัฒนาไปเป็นภาวะซึมเศร้าได้

วิธีหลีกเลี่ยง อาหารที่ไม่มีประโยชน์

หากร่างกายได้รับอาหารที่ไม่มีประโยชน์มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้น การหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่มีประโยชน์อาจทำได้ ดังนี้

  • วางแผนมื้ออาหารและของว่างไว้ล่วงหน้า อาจช่วยควบคุมเมนูอาหารที่ต้องรับประทานในแต่ละวันได้
  • รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อตามแผนที่วางไว้ เพื่อควบคุมความหิวที่อาจทำให้ขาดสติและรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์มากขึ้น
  • เลือกอาหารที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีท ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวโอ๊ต เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน
  • เลือกรับประทานผลไม้สดเป็นของหวานแทนขนมหวาน
  • เลือกอาหารแปรรูปอย่างระมัดระวัง โดยอ่านฉลากอาหารทุกครั้งก่อนซื้อเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล โซเดียม และไขมันมากเกินไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Unhealthy Foods. https://www.heart.org/en/healthy-living/go-red-get-fit/unhealthy-foods. Accessed November 1, 2022

Junk food and your health. https://www.healthdirect.gov.au/junk-food-and-your-health. Accessed November 1, 2022

Here’s How Fast Food Can Affect Your Body. https://health.clevelandclinic.org/heres-how-fast-food-can-affect-your-body/. Accessed November 1, 2022

The Hidden Dangers of Fast and Processed Food. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6146358/. Accessed November 1, 2022

The Bad Effects Of Eating Junk Food. https://southgatemedical.com.au/the-bad-effects-of-eating-junk-food/. Accessed November 1, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/10/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

6 วิธีควบคุมอาหาร เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

กรดยูริคสูง ต้องกินอะไร และควรหลีกเลี่ยงอาหารอะไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/10/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา