backup og meta

อาหารบำรุงฟัน เช็กสิ! กินอะไร เลี่ยงอะไร ฟันถึงจะแข็งแรง

อาหารบำรุงฟัน เช็กสิ! กินอะไร เลี่ยงอะไร ฟันถึงจะแข็งแรง

อาหารบำรุงฟัน คือ อาหารที่ช่วยให้สุขภาพฟันแข็งแรง ทั้งยังช่วยให้สุขภาพเหงือกดีขึ้น ป้องกันฟันผุ และโรคเหงือก โดยอาหารบำรุงฟันนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นชา นม ผักและผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง การรับประทานอาหารเหล่านี้ก็เพื่อช่วยให้สุขภาพช่องปากดีขึ้นนั่นเอง

อาหารบำรุงฟัน ที่ควรพลาด

อาหารบำรุงฟัน เป็นอาหารที่ช่วยทำให้สุขภาพฟันแข็งแรง นอกเหนือจากการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟัน การรับประทานอาหารบำรุงฟันเป็นอีกหหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้สุขภาพช่องปากดีขึ้น สำหรับอาหารบำรุงฟัน ได้แก่

ชา

ชาดำและชาเขียวอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีที่เรียกว่า โพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งนอกจากจะมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังช่วยชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบหรือโรคปริทันต์ (Periodontal Disease)

โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ชิคาโก (University of Illinois at Chicago) เผยว่า คนที่บ้วนปากด้วยชาดำวันละ 10 ครั้ง ๆ ละ 1 นาที มีการก่อตัวของคราบพลัคที่ฟันน้อยกว่าคนที่บ้วนปากด้วยน้ำเปล่า อีกทั้งการบ้วนปากด้วยชาดำ ยังช่วยลดปริมาณและความฝังแน่นของคราบพลัคที่มีอยู่ก่อนได้ด้วย

นมและผลิตภัณฑ์จากนม

นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ตรสธรรมชาติ ถือเป็นอาหารบำรุงฟันที่ไม่ควรพลาด เพราะนมและผลิตภัณฑ์นมเหล่านี้ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลาย เมื่อร่างกายผลิตน้ำลายได้ดี ปากและฟันก็จะสะอาด นอกจากนี้ นมและผลิตภัณฑ์จากนมยังอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญ 2 ชนิดที่ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง และช่วยซ่อมแซมเคลือบฟันด้วย เวลาเลือกซื้อนมและผลิตภัณฑ์จากนม แนะนำให้เลือกแบบที่ไม่มีสารปรุงแต่ง เช่น น้ำมัน น้ำตาล จะได้ดีต่อสุขภาพฟัน

ลูกเกด

หลายคนอาจคิดว่า ผลไม้แห้งอย่างลูกเกดมีรสชาติหวานจัด อาจไม่ดีต่อฟัน แต่ความจริงแล้ว ความหวานของลูกเกดเป็นความหวานจากธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากการเติมน้ำตาลซูโครส หรือที่มักเรียกกันว่า น้ำตาลทราย

อีกทั้งลูกเกดยังเป็นแหล่งของสารพฤกษเคมีหลากหลายชนิดที่ช่วยกำจัดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดคราบพลัค สาเหตุของฟันผุ แถมยังช่วยชะลอการเกิดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบได้เช่นเดียวกับชา แต่แนะนำว่า ให้รับประทานแต่พอดี เพราะถึงอย่างไรลูกเกดก็มีน้ำตาล กินมากไปก็สามารถส่งผลเสียต่อฟันและสุขภาพโดยรวมได้

ผักและผลไม้ไฟเบอร์สูง

สมาคมทันตแพทย์อเมริกัน (American Dental Association หรือ ADA) แนะนำให้รับประทานผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ เพราะช่วยทำให้เหงือกและฟันสะอาด ทั้งยังช่วยให้น้ำลายไหลเวียนได้ดี จึงสามารถชะล้างเศษอาหาร จุลินทรีย์ และเยื่อเมือกในช่องปากที่เสื่อมสภาพออกไป ทำให้ปากและฟันยิ่งสะอาดขึ้นด้วย

ผักและผลไม้ที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารสูง เช่น แครอท ข้าวโพด บร็อคโคลี ปวยเล้ง มะละกอ ส้ม กล้วย อะโวคาโด ฝรั่ง แอปเปิ้ล ถั่วและธัญพืช โดยเฉพาะ ถั่วแดง ถั่วเขียว แต่แนะนำว่า อย่าบริโภคไฟเบอร์เกินวันละ 50-60 กรัมต่อวัน เพราะถึงจะดีต่อสุขภาพปากและฟัน แต่ก็อาจไปขัดขวางการดูดซึมวิตามินและเกลือแร่บางชนิด และทำให้ท้องอืด ท้องผูกได้

ผักและผลไม้วิตามินซีสูง

หลายคนอาจไม่รู้ว่า วิตามินซีก็เป็นวิตามินสำคัญสำหรับสุขภาพปากและฟันเช่นกัน เมื่อรับประทานผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เช่น ส้ม เกรปฟรุต สตรอว์เบอร์รี กีวี ฝรั่ง ปวยเล้ง พริกหวาน บร็อคโคลี คะน้า ก็อาจช่วยให้หลอดเลือดและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันแข็งแรงขึ้น ช่วยลดการอักเสบ ชะลอการเกิดโรคเหงือก ที่ส่งผลเสียต่อเหงือกและฟันได้

ดาร์กช็อกโกแลต

ดาร์กช็อกโกแลต หรือช็อกโกแลตที่มีโกโก้ 70% ขึ้นไป ได้ชื่อว่าเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่ดีต่อสุขภาพหลายด้าน รวมถึงสุขปากปากและฟันด้วย เพราะดาร์กช็อกโกแลตมีเปลือกเมล็ดโกโก้ (Cocoa Bean Husk หรือ CBH) ที่มีประสิทธิภาพในการบำรุงเคลือบฟัน และช่วยยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดฟันผุ แนะนำว่า ควรเลือกกินดาร์กช็อกโกแลตแบบไม่มีน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม

หากจัดฟันควรหลีกเลี่ยงการกินดาร์กช็อกโกแลตผสมถั่ว เพราะอาจติดฟันและทำความสะอาดยาก และควรเก็บดาร์กช็อกโกแลตไว้ที่อุณหภูมิห้องแทนการเก็บในตู้เย็น ดาร์กช็อกโกแลตจะได้มีเนื้อนิ่มและกัดได้ง่ายขึ้น

อาหารทำลายฟัน ที่ควรเลี่ยง

หากอยากให้สุขภาพปากและฟันแข็งแรง นอกจากจะบริโภคอาหารบำรุงฟันที่แนะนำไปข้างต้นแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารทำลายฟันเหล่านี้ด้วย

อาหารบำรุงฟัน-ฟันแข็งแรง-บำรุงเหงือก-อาหารทำลายฟัน

น้ำอัดลม

น้ำอัดลมเติมน้ำตาลในปริมาณมาก ซึ่งน้ำตาลถือเป็นอาหารโปรดของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโต คราบพลัคสะสมอยู่บนฟัน ทำให้ฟันผุเหงือกมีปัญหา อีกทั้งกรดฟอสฟอริกและกรดซิตริกในน้ำอัดลมยังทำลายชั้นเคลือบฟันที่ช่วยปกป้องฟันจากการผุกร่อนด้วย

อาหารรสหวาน

อาหารรสหวาน เช่น ลูกอม อมยิ้ม เค้ก โดยเฉพาะพวกที่มีเนื้อเหนียวหนืด เช่น คาราเมล รวมถึงยาอมแก้เจ็บคอและหมากฝรั่งที่เติมน้ำตาล ซึ่งอย่างที่บอกไปแล้วว่า น้ำตาลเป็นอาหารของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคราบพลัคเกาะแน่นกับฟัน ส่งผลให้ฟันผุและเหงือกเสียหาย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน หากอยากให้สุขภาพช่องปากและฟันแข็งแรง

สารที่ทำให้ปากแห้ง

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาบางชนิดจะทำให้ช่องปากแห้ง และมีน้ำลายน้อย จนส่งผลเสียต่อสุขภาพปากและฟัน เช่น ทำให้ฟันผุ ทำให้เป็นโรคเหงือก ทำให้มีคราบฟันสะสม เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อราในช่องปาก ทั้งยังทำให้มีกลิ่นปากจนอาจเสียความมั่นใจได้ด้วย ฉะนั้น หากอยากมีสุขภาพปากและฟันแข็งแรง ควรลดหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือหากปากแห้งเพราะยา อาจต้องปรึกษาคุณหมอเพื่อเปลี่ยนยา

ไม่เพียงแค่การรับประทานอาหารบำรุงฟัน และแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง รวมไปถึงการใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ ที่สำคัญ คือ การไปพบหมอฟันเพื่อตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอนัดหมาย ฟันจะได้แข็งแรง ปากสะอาด และยิ้มได้อย่างมั่นใจ

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The Best and Worst Foods for Your Teeth. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=1&ContentID=4062. Accessed April 24, 2020

7 foods for healthy teeth. https://orthodonticsaustralia.org.au/7-foods-healthy-teeth/. Accessed April 24, 2020

Chew on This: 8 Foods for Healthy Teeth. https://www.livescience.com/44111-foods-healthy-teeth-bad-breath.html. Accessed April 24, 2020

Healthy Nutrition for Healthy Teeth. https://www.eatright.org/food/vitamins-and-supplements/nutrient-rich-foods/healthy-nutrition-for-healthy-teeth. Accessed April 24, 2020

Good Foods for Dental Health. https://www.mouthhealthy.org/en/nutrition/good-foods-slideshow. Accessed April 24, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/10/2021

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

แบคทีเรียในช่องปาก ร้ายกว่าที่คิด นอกจากทำฟันผุ ยังเป็น ตัวการมะเร็งลำไส้ใหญ่

คราบพลัค สาเหตุและวิธีป้องกัน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/10/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา