backup og meta

ไขข้อสงสัย ผู้ป่วยโรคหัวใจ กิน “กะทิ” ได้หรือเปล่านะ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 04/12/2020

    ไขข้อสงสัย ผู้ป่วยโรคหัวใจ กิน “กะทิ” ได้หรือเปล่านะ

    เมื่อพูดถึงคำว่า “กะทิ” หลาย ๆ คนก็อาจจะส่ายหน้าหนี ไม่ยอมกิน เพราะเชื่อว่าการกินกะทินั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงโรค แถมยังทำให้อ้วน ยิ่งกับผู้ป่วยโรคหัวใจยิ่งควรจะหลีกเลี่ยง แล้วความจริงนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ ผู้ป่วยโรคหัวใจ สามารถกิน น้ำกะทิ ได้หรือเปล่า มาหาคำตอบพร้อมกันกับ Hello คุณหมอ เลยค่ะ

    น้ำกะทิ กับประโยชน์สุขภาพที่หลายคนมองข้าม

    คนไทยหลายคนมักจะมีความกังวลเวลาที่จะต้องกินอาหารที่ใส่กะทิ ทั้งพวกแกงต่าง ๆ อย่าง แกงเขียวหวาน ต้มข่าไก่ หรือพวกขนมหวานอย่าง ลอดช่อง หรือปากริมไข่เต่า เพราะเราเชื่อว่ากะทินั้นเป็นอาหารที่มีความมัน เลยน่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงไม่ยอมกินกัน

    แต่ในความเป็นจริงนั้น กะทิ (Coconut Milk) ถือได้ว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินซี โฟเลต ธาตุเหล็ก ทองแดง และแมงกานีส ซึ่งล้วนแล้วแต่ก็เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก

    การกินกะทินั้นนอกจากจะไม่ได้ทำให้อ้วนแล้ว ยังอาจสามารถช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักได้อีกด้วย มีงานวิจัยที่พบว่า การรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง (medium-chain triglycerides; MCT) สูงอย่าง น้ำกะทิ อาจสามารถช่วยในการลดน้ำหนักได้ โดยการกระตุ้นกระบวนการผลิตความร้อนของร่างกาย ที่ใช้ในการย่อยอาหาร ทำให้ช่วยในการเผาผลาญพลังงาน อีกทั้งยังช่วยปรับความสมดุลของเชื้อแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้

    น้ำกะทิ ดีหรือแต่ต่อสุขภาพหัวใจกันแน่

    ความเห็นของนักวิจัยที่มีต่อผลของการกินกะทิกับสุขภาพหัวใจนั้นยังคงแตกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ว่าการกินกะทินั้นดีต่อสุขภาพหัวใจ กับฝ่ายที่ว่าการกินกะทินั้นไม่ดีต่อสุขภาพหัวใจ

    ปัญหาสำคัญที่ว่านั้นเป็นเพราะ กะทิ จัดเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง และมีคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อปีค.ศ. 2012 ได้ทำการศึกษาข้อมูลสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 25-65 ปี พบว่า ผู้ที่ได้รับประทานกะทิเป็นประจำ อาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้บริโภคกะทิ

    แต่อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่า การกินกะทินั้นเกี่ยวกับการความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างไร

    น้ำกะทิ-ผู้ป่วยโรคหัวใจ-สุขภาพหัวใจ

    ในทางกลับกัน งานวิจัยอื่น ๆ ก็ให้ความเห็นว่า การรับประทานกะทินั้นอาจจะดีต่อสุขภาพหัวใจ เพราะจะช่วยลดระดับของไขมันที่ไม่ดี (LDL) และเพิ่มระดับของไขมันดี (HDL) ไขมันที่สามารถช่วยนำเอาไขมันไม่ดีที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดไปยังตับ เพื่อให้ตับทำหน้าที่ในการกำจัดไขมันไม่ดีเหล่านั้นออกไปจากร่างกายอีกที ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีไขมันดีสูงอย่างกะทิ จึงอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดนั่นเอง

    กล่าวได้ว่า แม้ว่าหลักฐานการวิจัยส่วนใหญ่ อาจจะมุ่งเน้นไปในทางด้านที่ว่า การกินกะทินั้นดีต่อสุขภาพหัวใจ แต่ก็ยังคงจำเป็นต้องมีการวิจัยศึกษาค้นคว้าอีกมาก ถึงจะได้ข้อสรุปที่สามารถฟันธงได้อย่างชัดเจน หากเรายังคงต้องการที่จะกินกะทิ จึงควรจำกัดปริมาณการบริโภคน้ำกะทิ กินแต่เพียงพอดี ไม่มากเกินไป ก็จะไม่มีความเสี่ยงต่อร่างกายให้เรากังวลกันแล้วค่ะ

    ข้อแนะนำในการบริโภคกะทิ

    แม้ว่าการกินกะทินั้นจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งยังไม่ค่อยทำให้เกิดอาการแพ้เหมือนอาหารอื่น ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถกินกะทิมากเท่าไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาในเรื่องของระบบย่อยอาหารบางอย่าง อาจจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการบริโภคน้ำกะทิ และกินไม่เกินครั้งละ 120 มล. ต่อครั้ง

    นอกจากนี้ กะทินั้นยังเป็นอาหารที่มีแคลอรี่สูง กะทิ 1 ถ้วย อาจจะให้พลังงานมากกว่า 500 แคลอรี่เลยทีเดียว ผู้ที่จำเป็นต้องควบคุมปริมาณของแคลอรี่ในแต่ละวัน อาจจำเป็นต้องจำกัดการบริโภคกะทิ และหลีกเลี่ยงการกินกะทิในปริมาณที่มากจนเกินไป

    สุดท้ายนี้ แม้ว่าความเกี่ยวข้องระหว่างกะทิกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจนั้นอาจจะยังไม่แน่ชัด แต่สิ่งที่แน่ใจได้อย่างนึงก็คือ หากเราควบคุมปริมาณการบริโภคกะทิให้เหมาะสม ไม่กินมากเกินไป หรือกินบ่อยเกินไป ก็จะทำให้เราได้รับรสชาติอันแสนอร่อย และประโยชน์สุขภาพของกะทิได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมาคอยกังวลเรื่องอันตรายต่อร่างกายนั่นเอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 04/12/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา