เกลือหิมาลัย หรือเกลือหิมาลายัน มีสีชมพูเพราะมีไอเอิร์นออกไซด์เป็นส่วนประกอบ เป็นเกลือธรรมชาติซึ่งอาจมีประโยชน์สุขภาพมากมาย เพราะมีแร่ธาตุและสารอาหารรองมากถึง 84 ชนิด มีปริมาณโปแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และเหล็กมากกว่าเกลือทั่วไป ทั้งยังช่วยรักษาระดับของเหลวในร่างกาย ช่วยให้กระดูกแข็งแรง และป้องกันไม่ให้เป็นตะคริว เป็นต้น
ทำความรู้จักกับเกลือหิมาลัย
เกลือหิมาลัย หรือเกลือหิมาลายัน มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาหิมาลัยในประเทศปากีสถาน มีสีชมพูเพราะมีไอเอิร์นออกไซด์ (Iron oxide) เป็นส่วนประกอบ เกลือหิมาลัยจัดว่าเป็นเกลือบริสุทธิ์ เชื่อกันว่าเกิดจากการระเหยและตกผลึกของน้ำทะเลยุคโบราณเมื่อหลายล้านปีก่อน ผ่านการสกัดด้วยมือและไม่มีการเติมสารเคมีหรือสารปรุงแต่งใด ๆ จึงเป็นธรรมชาติและมีแร่ธาตุมากกว่าเกลือที่ใช้กันอยู่ทั่วไป
นอกจากจะใช้ประกอบอาหารแล้ว เกลือหิมาลัยยังนิยมนำมาทำเป็นโคมไฟหรือสร้างเป็นถ้ำเกลือหิมาลัยเพื่อช่วยขจัดเชื้อโรคในอากาศ ทำให้ปอดมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
ประโยชน์ของเกลือหิมาลัย
หลายคนเชื่อว่าการบริโภคเกลือหิมาลัยเป็นประจำจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น เพราะมีประโยชน์มากมาย ดังนี้
- ช่วยรักษาระดับของเหลวในร่างกาย
- ช่วยปรับสมดุลค่าความเป็นกรดด่าง (pH balance) ในเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์สมอง
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และชะลอวัย
- ช่วยดูดซึมอนุภาคอาหาร (Food Particles) ในลำไส้
- ช่วยให้สมอง กล้ามเนื้อ และระบบประสาททำงานได้ดีขึ้น
- ช่วยให้ระบบทางเดินหายใจ รวมถึงสุขภาพไซนัสดีขึ้น
- ช่วยควบคุมความดันโลหิต
- ช่วยให้กระดูกแข็งแรง
- ป้องกันไม่ให้เป็นตะคริว
- กระตุ้นความต้องการทางเพศ
- ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง
- ช่วยให้นอนหลับสนิท
แม้ประโยชน์บางข้อจะยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่ออกมายืนยันว่าเป็นความจริงหรือไม่ แต่ก็ทำให้เกลือหิมาลัยได้รับความนิยมแพร่หลายขึ้นในปัจจุบัน
เกลือหิมาลัยดีกว่าเกลือบริโภคทั่วไปจริงหรือ
หลายคนเชื่อว่า เกลือหิมาลัยอาจมีประโยชน์สุขภาพมากมาย เพราะมีแร่ธาตุและสารอาหารรองมากถึง 84 ชนิด มีปริมาณโปแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และเหล็กมากกว่าเกลือทั่วไป แต่มีปริมาณโซเดียมน้อยกว่า คือ ในปริมาณ 1 กรัมเท่ากัน เกลือทั่วไปมีโซเดียม 381 มิลลิกรัม ส่วนเกลือหิมาลัยโซเดียมน้อยกว่า คือ 368 กรัม
นอกจากนี้ เกลือบริโภคทั่วไปบางยี่ห้อมีสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย เกลือหิมาลัยซึ่งเป็นเกลือธรรมชาติจึงอาจปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากกว่า
ข้อควรระวังในการบริโภคเกลือหิมาลัย
- ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ
ไอโอดีน คือ แร่ธาตุที่ร่างกายต้องการเพื่อให้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ เกลือหิมาลัยนั้นมีปริมาณไอโอดีนน้อยกว่าเกลือป่นที่บริโภคกันทั่วไป ผู้ที่หันมาบริโภคเกลือหิมาลัยจึงอาจได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอที่ร่างกายต้องการ และควรเสริมไอโอดีนด้วยการรับประทานอาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย สาหร่าย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากนม เพื่อป้องกันการขาดสารไอโอดีน (Iodine Deficiency)
- ได้รับโซเดียมมากเกินไป
แม้โซเดียมจะเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่หากได้รับโซเดียมมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ทั้งผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่าควรควบคุมการบริโภคโซเดียมและผู้ที่ร่างกายแข็งแรงปกติไม่ควรบริโภคโซเดียมเกินที่ร่างกายต้องการ นั่นคือ ควรบริโภคน้อยกว่า 2,300 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีผลยืนยันแน่ชัดว่าเกลือหิมาลัยดีกว่าเกลือทั่วไป แต่เกลือหิมาลัยก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่อยากบริโภคเกลือทั่วไปเพราะกลัวใส่สารเคมีหรือสารปรุงแต่ง แม้จะมีราคาแพงกว่าเกลือทั่วไปก็ตาม
[embed-health-tool-bmr]