คนอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน สามารถคำนวณได้จากค่าดัชนีมวลกาย ด้วยการนำน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารกับ ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2 หากผลลัพธ์ออกมาสูงกว่า 30.0 ก็อาจเป็นไปได้ว่ากำลังเสี่ยงเป็นโรคอ้วน หรือวัดจากรอบเอวซึ่งหากผู้หญิงมีรอบเอวมากกว่า 35 นิ้ว และผู้ชายมีรอบเอวมากกว่า 40 นิ้ว ก็อาจมีความหมายว่าเสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็งบางชนิด
[embed-health-tool-bmi]
สาเหตุที่ทำให้คนอ้วน
สาเหตุที่ทำให้ คนอ้วน ส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายสะสมแคลอรีจากอาหารที่รับประทานมากเกินไปและไม่ได้เผาผลาญพลังงานส่วนเกินออก ด้วยการออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ ส่งผลให้แคลอรีในร่างกายแปรเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมอยู่ตามเซลล์เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ปริมาณมาก ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และอาจหรือเสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้ในอนาคต
กรรมพันธุ์ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วน บางครอบครัวอาจมีการถ่ายทอดยีนเดี่ยวที่อาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้ เรียกว่า โรคอ้วนที่เกิดจากยีนเดี่ยว (Monogenic obesity) ซึ่งอาจทำให้ลดความอ้วนได้ยาก
โรคเรื้อรัง เช่น กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ กลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing) กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ (Prader-Willi Syndrome) โรคข้ออักเสบ รวมถึงยาบางชนิดอย่างสเตียรอยด์ ยากล่อมประสาท ยาต้านอาการชัก ยารักษาโรคเบาหวาน ยาเบต้าบล็อกเกอร์ เป็นต้น ก็อาจส่งผลข้างเคียงทำให้น้ำหนักเพิ่มหรืออ้วนขึ้นได้เช่นกัน เพราะโรคหรือยาเหล่านี้อาจทำให้ร่างกายเสียความสมดุลของพลังงาน ร่างกายขาดไมโครไบโอม (Microbiome) ที่เป็นจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งมีส่วนช่วยการเผาผลาญอาหาร
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในคนอ้วน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในคนอ้วนหากปล่อยให้ไขมันสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน มีดังนี้
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้อินซูลินในร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม และอาจนำไปสู่โรคอ้วน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด คนอ้วนส่วนใหญ่มีแนวโน้มระดับความดันโลหิตสูงและระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
- ปัญหาทางเดินอาหาร ไขมันที่สะสมมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการเสียดท้อง และเสี่ยงเป็นโรคถุงน้ำดี
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ส่วนใหญ่คนอ้วนอาจเผชิญกับปัญหาหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากไขมันส่วนเกินอาจไปสะสมอยู่บริเวณคอหอยและปิดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนจนอากาศเข้าผ่านทางเดินหายใจอย่างจำกัดขณะหลับและอาจทำให้เกิดการกรนที่เป็นสัญญาณเตือนสู่ภาวะหายใจขณะหลับ ซึ่งนับว่าเป็นโรคร้ายแรงและสามารถเกิดขึ้นหลายครั้งระหว่างการนอนหลับโดยไม่รู้ตัว
- โรคมะเร็งบางชนิด ยิ่งน้ำหนักเกินมาตรฐานมากเท่าไหร่ก็อาจมีแนวโน้มทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งบริเวณปากมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก รังไข่ เต้านม ลำไส้ หลอดอาหาร ทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี ไต และต่อมลูกหมาก
- โรคข้อเข่าเสื่อม ข้อต่อส่วนล่างรวมถึงข้อต่อบริเวณสะโพกเป็นอวัยวะที่รองรับน้ำหนัก หากมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลให้ข้อต่อและกระดูกเสื่อมสภาพได้เร็วจนนำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อม
- โรคเกาต์ เพราะโรคอ้วนเกิดจากการเลือกรับประทานอาหารและขาดการเผาผลาญอาหารที่เพียงพอจนอาหารเหล่านี้เกิดการสะสมเป็นไขมัน โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ จนอาจทำให้ร่างกายมีกรดยูริก (Uric acid) ในเลือดมากเกินไปและสร้างผลึกที่สะสมภายในข้อต่อ
- อาการโควิด-19 รุนแรง เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ที่เป็นโรคอ้วนอาจมีอาการโควิด-19 ระดับรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
- ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือสุขภาพจิต เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีการสะสมของไขมันในร่างกายปริมาณมาก อาจทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม จนสูญเสียความมั่นใจ อยากแยกตัวออกจากสังคมนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
เคล็ดลับการลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย
การลดน้ำหนักและการควบคุมน้ำหนักสำหรับคนอ้วนอย่างปลอดภัย มีดังนี้
- ตั้งเป้าหมายการลดน้ำหนัก และบันทึกการเปลี่ยนแปลงการลดน้ำหนักเป็นประจำ
- ไม่ควรอดอาหาร โดยเฉพาะมื้อเช้าที่เป็นมื้อสำคัญ เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารเสริมสร้างพลังงานให้ร่างกาย แต่อาจปรับเปลี่ยนเป็นการควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสมแทน
- รับประทานอาหารแคลอรีต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ข้าวกล้อง ขนมปังหรือเส้นพาสต้าจากโฮลวีต นมไขมันต่ำ
- ไม่รับประทานอาหารช่วงเวลากลางคืน
- คำนวณปริมาณแคลอรีตามความเหมาะสม ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับแผนการรับประทานหรือควบคุมแคลอรี
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเผาผลาญแคลอรีส่วนเกินออกได้
- อ่านฉลากข้อมูลโภชนาการ ก่อนซื้อเครื่องปรุงอาหาร อาหาร ของว่าง เพื่อคำนวณแคลอรี
นอกจากการลดน้ำหนักด้วยตัวเองขั้นพื้นฐานสำหรับคนอ้วน อาจสามารถนำเทคนิคการลดน้ำหนักที่คุณหมอแนะนำมาร่วมปฏิบัติได้ โดยเข้ารับขอคำปรึกษาจากคุณหมอและวินิจฉัยสุขภาพเบื้องต้น เพราะผู้ป่วยบางคนอาจมีปัจจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อรังประจำตัวที่คุณหมอควรทราบ ก่อนเริ่มวางแผนการลดน้ำหนักให้อย่างเหมาะสม