โรคอ้วน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพหลายประการ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อีกทั้ง โรคอ้วนกับความเสี่ยงมะเร็ง ก็ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน เนื่องจากการมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนอาจส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนบางชนิด เช่น อินซูลิน เอสโตรเจน ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงที่เซลล์จะเจริญเติบโตผิดปกติจนนำไปสู่โรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดน้ำหนักลงให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี อาจช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้
โรคอ้วน เกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคอ้วน (Obesity) คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในร่างกายมากเกินไป โรคอ้วนสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อย อาจได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากเกินไป เช่น อาหารไขมันสูง อาหารน้ำตาลสูง การใช้ชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ การไม่ค่อยออกกำลังกาย นอกจากนี้ พันธุกรรม ประวัติโรคอ้วนของคนในครอบครัว ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้เช่นกัน
การประเมินโรคอ้วนในเบื้องต้นนิยมใช้การตรวจวัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI) โดยการนำน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง
- ค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 18.5 ถือว่าน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
- ค่าดัชนีมวลกาย 18.5-22.9 ถือว่าน้ำหนักตัวตามเกณฑ์ หรือสมส่วน
- ค่าดัชนีมวลกาย 23.0-24.9 ถือว่าน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์
- ค่าดัชนีมวลกาย 25.0-29.9 ถือว่าเป็นโรคอ้วนระดับ 1
- ค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30.0 ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคอ้วนระดับ 2
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การตรวจวัดค่าดัชนีมวลกายดังกล่าวอาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน เช่น หญิงตั้งครรภ์ อาจต้องปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
โรคอ้วนกับความเสี่ยงมะเร็ง เกี่ยวข้องกันอย่างไร
โรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ เนื่องจากการมีน้ำหนักมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคอ้วน อาจทำให้ระดับฮอร์โมนอินซูลินและฮอร์โมนไอจีเอฟ-วัน (IGF-1) สูงเกินไป โดยฮอร์โมนไอจีเอฟ-วันเป็นฮอร์โมนที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน มีหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกาย หากในร่างกายมีฮอร์โมน 2 ชนิดนี้มากเกินไป อาจกระตุ้นให้เซลล์พัฒนาผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ อีกทั้งยังพบว่า ร่างกายของผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมักเกิดการอักเสบในระดับต่ำเป็นประจำ หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคหลอดลมอักเสบ ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ หรือปล่อยให้เป็นเรื้อรังอาจทำให้เซลล์ที่ดีในร่างกายถูกทำลาย และกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้
นอกจากนี้ เนื้อเยื่อไขมัน (Fat tissue หรือ Adipose tissue) ที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้ที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนยังอาจกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น อีกทั้งเซลล์ไขมันยังอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย การมีเซลล์ไขมันมากเกินไป จึงอาจกระตุ้นให้เซลล์เจริญเติบโตมากหรือเร็วกว่าปกติ จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้เช่นกัน
คนที่เป็นโรคอ้วนเสี่ยงเป็นมะเร็งอะไรบ้าง
โรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด เช่น
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วนเสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากกว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักปกติถึงสองเท่า
- มะเร็งหลอดอาหาร โรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลอดอาหารชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (adenocarcinoma) ได้
- มะเร็งตับอ่อน ตับอ่อนผลิตน้ำย่อยในการย่อยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะไขมัน ทั้งยังมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลินและฮอร์โมนกลูคากอนซึ่งมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งหากเซลล์ตับอ่อนผิดปกติ ก็อาจเกิดมะเร็งตับอ่อนได้
- มะเร็งตับ หากเซลล์ตับแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเซลล์มากกว่าปกติ อาจเกิดเป็นก้อนมะเร็งในตับได้
- มะเร็งไต อาจเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อไตและกรวยไตเจริญเติบโตเร็วและผิดปกติ
- มะเร็งเต้านม อาจเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในท่อน้ำนม หรือต่อมน้ำนม สังเกตได้จากสัญญาณเตือนเบื้องต้น เช่น คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อาจเกิดจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก เรียกว่า โพลิป (Polyp) ซึ่งเป็นเซลล์เนื้อผิดปกติที่งอกจากผนังลำไส้
- มะเร็งกระเพาะอาหาร อาจเกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารชั้นในเจริญเติบโตและแบ่งตัวมากและเร็วผิดปกติ จนลุกลามมาถึงผนังกระเพาะอาหารชั้นนอก และแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณกระเพาะ
- มะเร็งต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่อยู่ด้านหน้าลำคอ เมื่อมีความผิดปกติจะโตขึ้น และเห็นเป็นก้อนในบางครั้ง
- เนื้องอกเมนิงจิโอมา หรือเนื้องอกเยื้อหุ้มสมอง (Meningioma) เนื้องอกที่เกิดในเยื้อหุ้มสมองหรือเยื่อหุ้มไขสันหลัง โดยปกติแล้วจะเจริญเติบโตช้า และใช้เวลานานกว่าจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ
คำแนะนำในการลดความเสี่ยงมะเร็ง
วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน
- ปรับการรับประทานอาหารให้ดีต่อสุขภาพ เช่น รับประทานผักและผลไม้สดให้มากขึ้น งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยานแบบไม่เร็วมาก เล่นแบดมินตันในเชิงสันทนาการ เล่นเทนนิสแบบคู่ อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือสัปดาห์ละ 150 นาที หรือออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูง เช่น วิ่งจ็อกกิ้ง ปั่นจักรยานเร็ว ๆ เล่นบาสเกตบอล เตะบอล เล่นเทนนิสแบบเดี่ยว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 75 นาที อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม จะได้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บ อุบัติเหตุ หรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น ข้ออักเสบ จากการออกกำลังกาย
- งดสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีหลายชนิดในบุหรี่ เช่น นิโคติน ทาร์หรือน้ำมันดิน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต เป็นต้น
- ปกป้องผิวหนังจากแสงแดด ด้วยการทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟอย่างน้อย 30 ก่อนออกแดด 15 นาที หลีกเลี่ยงการออกแดดในช่วงสิบโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น สวมเสื้อผ้าแขนยาขายาว สวมหมวกและแว่นกันแดดเมื่อออกแดด เป็นต้น เนื่องจากรังสียูวีในแสงแดดอาจส่งผลให้เซลล์ผิวหนังเสื่อมสภาพหรือนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี ด้วยการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
- เข้ารับการตรวจสุขภาพและตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ เพราะหากตรวจพบโรคมะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคได้ หรือหากคุณหมอพบว่าเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง จะได้แนะนำวิธีรักษาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงได้