โรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยอาการของโควิด-19 เบื้องต้นนั้น มีความคล้ายคลึงกับอาการไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ไอจาม ปวดศีรษะ เจ็บคอ จึงอาจทำให้หลายคนที่มีอาการดังกล่าวรู้สึกสับสนหรือวิตกกังวลว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่กันแน่ ซึ่งการเรียนรู้ความแตกต่างของโรคทั้งสอง โดยเฉพาะอาการของโรคจะช่วยให้สามารถรับมือกับโรคได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19
ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้
- โควิด-19 เกิดจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) หรือที่เรียกว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์เดลตา พลัส (Delta Plus หรือ AY.1) สายพันธุ์โควิด แลมบ์ดา (Lambda หรือ C.37) สายพันธุ์โอไมครอน หรือโอมิครอน (Omicron หรือ B.1.1.529)โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในมนุษย์ สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้และส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ โดยพบการระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงปลายปี 2019
- ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งมี 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกันคือ ไวรัสอินฟลูเอนซาสายพันธุ์ A, B และ C โดยเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A และ B เป็นเชื้อก่อโรคที่พบได้บ่อย โดยเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซานั้นมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา และการปรับตัวของเชื้อไวรัสทำให้เกิดการกลายพันธุ์ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดได้ทุกปี ซึ่งในส่วนของประเทศไทยไข้หวัดใหญ่เกิดได้ตลอดปี แต่มักมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน
อาการไข้หวัดใหญ่ และ อาการโควิด-19 ต่างกันอย่างไร?
อาการไข้หวัดใหญ่ และอาการโควิด-19 มีดังนี้
อาการโควิด19 (COVID-19)
เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด19 เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-14 วัน และมักทำให้มีอาการ ดังต่อไปนี้
- มีไข้
- ไอแห้ง
- เมื่อยล้า
- หายใจถี่
- เจ็บคอ
- น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ปวดหัว
- คลื่นไส้
- ท้องร่วง
- จมูกไม่ได้กลิ่น
- รับรสไม่ได้
โดยอาการดังกล่าวเป็นอาการของโควิด-19 เบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนที่ได้รับเชื้ออาจไม่พบอาการใดๆ หรืออาจมีอาการไม่รุนแรงมาก แต่ในบางกรณีก็อาจมีอาการที่รุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ ไตวาย หรือร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต นอกจากนี้ หลังจากหายป่วย อาจมีอาการลองโควิด (Long Covid) เช่น ซึมเศร้า เหนื่อยง่าย และหายใจลำบากอีกด้วย
อาการไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปแล้วเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซาจะใช้เวลาฟักตัวเฉลี่ย 1-3 วัน และส่งผลให้มีอาการเจ็บป่วยอยู่ประมาณ 5-7 วัน ซึ่งอาการไข้หวัดใหญ่เบื้องต้นมี ดังนี้
- มีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส
- หนาวสั่น
- ไอมาก
- เจ็บคอ
- น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปวดเมื่อยร่างกาย
- ปวดหัว
- เมื่อยล้า
- อาเจียนและท้องเสีย (อาการนี้มักจะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่)
นอกจากนี้ โรคไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้เกิดอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น อาการเจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อยง่าย ปอดบวม เยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ หลอดลมอักเสบ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ความแตกต่างของโรคโควิด-19 กับ ไข้หวัดใหญ่
แม้อาการของโควิด-19 เบื้องต้นจะมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้
โดยในส่วนของโรคไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่จมูก ลำคอ และบางครั้งก็อาจทำให้ปอดติดเชื้อได้เช่นกัน โดยปกติแล้วไข้หวัดใหญ่มักจะเกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยผู้ป่วยอาจมีอาการไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง และอาการที่พบอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล สำหรับวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ คือ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ลดความรุนแรงของอาการหากเกิดโรค และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค
สำหรับโรคโควิด-19 สามารถพบได้ทุกฤดูกาล สามารถแพร่กระจายได้ง่าย สามารถก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้เช่นกัน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ลดความรุนแรงของอาการ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
วิธีป้องกันตนเองจากโรคโควิด-19 และ ไข้หวัดใหญ่
แม้โรคไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 จะไม่ใช่โรคเดียวกัน แต่การดูแลสุขอนามัย ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของทั้งสองโรคได้
- สำหรับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี และในส่วนของการป้องกันโรคโควิด-19 ควรฉีดวัคซีนรวมเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 3 เข็ม และฉีดเข็มกระตุ้นหลังเข็ม 3 ทุก 4 เดือน เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนกลาง
- ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ หลังสัมผัสพื้นที่สาธารณะ
- สวมหน้ากากอนามัยหากมีอาการไอจาม และพักผ่อนอยู่บ้านหากรู้สึกไม่สบาย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้มีอาการป่วย
- หากมีไข้ ไอ หายใจลำบาก ให้ไปพบแพทย์ทันที