backup og meta

การดูแลผู้สูงอายุ อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อย

การดูแลผู้สูงอายุ อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อย

ผู้สูงอายุ (Olderly) เป็นวัยที่ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงตามวัย โรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคงูสวัด โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคปอดอักเสบติดเชื้อหรือโรคปอดบวม หากผู้สูงอายุเป็นโรคติดเชื้ออาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ การดูแลผู้สูงอายุ อย่างเหมาะสม อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุได้

[embed-health-tool-bmi]

โรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

โรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อาจมีดังนี้

โรคไข้หวัดใหญ่ (Flu หรือ Influenza) เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ทำให้ปวดศีรษะ มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก หรือน้ำมูกไหล และอาจกระทบต่อสุขภาพผู้สูงอายุ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวม จนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และมีภูมิคุ้มกันอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว

  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infections)

เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรืออีโคไล (E.coli) ส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องถ่ายปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีกลิ่นหรือมีสีขุ่น ปัสสาวะแบบกะปริบกะปรอย ถ่ายปัสสาวะไม่สุด ผู้สูงอายุเสี่ยงติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย เนื่องจากมีกรดในปัสสาวะและภูมิคุ้มกันต่ำลง หรือเป็นโรคประจำตัวที่ทำให้มีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะนานขึ้น และหากผู้สูงอายุต้องใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อรักษาโรคหรือผ่าตัด ก็อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค จนทำให้ติดเชื้อได้ง่ายเช่นกัน

เป็นโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง สาเหตุของโรคปอดอักเสบที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า สเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่งผลให้ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ อ่อนเพลีย อาเจียน แน่นหน้าอก แต่บางครั้งอาการของโรคปอดบวมในผู้สูงอายุก็อาจสังเกตได้ยาก เนื่องจากอาการแสดงไม่ชัดเจน ผู้สูงอายุบางคนที่เป็นโรคปอดอักเสบอาจแค่เป็นไข้เล็กน้อย ซึมลง ไม่ไอ หากไม่สังเกตอาการให้ดี ๆ และพาไปเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้ได้รับยาปฏิชีวนะล่าช้ากว่าที่ควร จนเสี่ยงเสียชีวิตได้

  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง (Skin Infections)

เช่น โรคงูสวัด (Herpes Zoster) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เนื่องจากผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันลดลงจึงมักเป็นโรคงูสวัดได้ง่ายกว่าคนวัยอื่น โดยอาจติดเชื้อจากการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือเกิดจากเชื้อที่แฝงตัวอยู่ในร่างกายกำเริบในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ (ในผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน) หากมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น อวัยวะภายในติดเชื้อ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ยังมีการติดเชื้อที่ผิวหนังอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่แผลหรือผิวหนัง มักส่งผลให้ผิวหนังเป็นตุ่มแดง บวม ปวด อาจพบได้ในผู้ที่อยู่ในสถานพยาบาลหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยถูกสุขอนามัย และหากติดเชื้อชนิดที่ดื้อยาปฏิชีวนะ เช่น เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส ออเรียสที่ดื้อยาเมธิซิลิน (MRSA) ก็อาจทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงเสียชีวิตได้

  • โรคโควิด-19

เป็นโรคติดเชื้อที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง สามารถติดต่อได้ง่ายจากการหายใจรับละอองเชื้อจากผู้ป่วย หรือสัมผัสเชื้อที่อยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ซึมลง คนส่วนใหญ่มักฟื้นตัวและหายจากโควิดได้ใน 1 สัปดาห์ แต่สำหรับผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงตามวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น ภาวะหายใจล้มเหลว และส่งผลให้เสียชีวิตได้

การดูแลผู้สูงอายุ อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อ

การดูแลผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ อาจทำได้ดังนี้

การพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อ

เนื่องจากผู้สูงอายุมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าคนหนุ่มสาว การพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อ อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้สูงอายุได้ โดยทั่วไป วัคซีนที่ผู้สูงอายุควรได้รับ มีดังนี้

  • วัคซีนโควิด-19 ควรฉีดอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ (ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์) หรือขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรพาผู้สูงอายุไปฉีดทุกปี ปีละครั้ง ๆ ละ 1 เข็ม
  • วัคซีนปอดอักเสบ โดยอาจฉีดชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV-13) 1 เข็ม ตามด้วยชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) 1 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 ปี
  • วัคซีนป้องกันบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน ผู้สูงอายุที่ไม่เคยฉีดวัคซีนชนิดนี้มาก่อนควรรับวัคซีนชนิดนี้ 1 เข็ม และควรฉีดวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ (Td) เป็นเข็มกระตุ้นทุก 10 ปี
  • วัคซีนงูสวัด ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปควรฉีดใต้ผิวหนังอย่างน้อย 1 เข็ม

การดูแลความเป็นอยู่และสุขอนามัยของผู้สูงอายุ

การดูแลความเป็นอยู่และรักษาสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุให้เหมาะสมดังต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคในผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อ

  • ทำความสะอาดที่พักอาศัย บริเวณที่ผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่เป็นประจำ สิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุ เช่น ราวจับในห้องน้ำ ไม้เท้า รถเข็น เป็นประจำ
  • ให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สดและสะอาด และเลือกวัตถุดิบจากแหล่งที่มีสารปนเปื้อนน้อยที่สุด
  • หมั่นตัดเล็บหรือให้ผู้สูงอายุตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค
  • ให้ผู้สูงอายุล้างมือก่อนรับประทานอาหาร เตรียมอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ หรือสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะทุกครั้ง
  • ให้ผู้สูงอายุและคนรอบข้างอยู่ให้ห่างจากผู้ที่ติดเชื้อโรคต่าง ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะหายดี
  • ให้ผู้สูงอายุดูแลความสะอาดอวัยวะเพศให้ดี ซับบริเวณอวัยวะเพศให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำและเข้าห้องน้ำ
  • ใช้สายสวนปัสสาวะเท่าที่จำเป็น และดูแลทำความสะอาดอุปกรณ์อย่างเหมาะสม
  • ให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อให้ปัสสาวะเจือจางลงและลดการสะสมของแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ
  • ดูแลให้ผู้สูงอายุกินยารักษาโรคประจำตัวหรืออาหารเสริมตามคำแนะนำของคุณหมอ ตรงตามเวลาอยู่เสมอ และคอยดูแลให้ผู้สูงอายุไปพบคุณหมอตามนัดหมายทุกครั้ง

การดูแลสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ

ผู้ดูแลควรหมั่นใส่ใจและดูแลสุขภาพตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโรคต่าง ๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้สูงอายุ

  • ควรล้างมือบ่อย ๆ ฟอกถูมือด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีก่อนล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด ทั้งก่อนและหลังดูแลหรือสัมผัสตัวผู้สูงอายุ จัดเตรียมอาหาร ใช้ห้องน้ำ หรือสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ในที่สาธารณะ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่แออัด และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกไปที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่ปิด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และหาเวลาทำกิจกรรมผ่อนคลาย เพื่อลดความเครียดจากการดูแลผู้สูงอายุ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Common Infections in Older Adults. https://www.aafp.org/pubs/afp/issues/2001/0115/p257.html.  Accessed January 16, 2023

Coronavirus and COVID-19: Caregiving for the Elderly. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/coronavirus-caregiving-for-the-elderly. Accessed January 16, 2023

COVID-19 advice for older people and carers. https://www.health.gov.au/topics/aged-care/advice-on-aged-care-during-covid-19/covid-19-advice-for-older-people-and-carers. Accessed January 16, 2023

Caregiving for Older Adults. https://www.webmd.com/healthy-aging/aging-caregiving-older-adults. Accessed January 16, 2023

ผู้สูงอายุกับวัคซีนป้องกัน COVID-19. https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2345.  Accessed January 16, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

7 การดูแลตัวเองหลังติด COVID-19 มีอาการลองโควิดต้องทำอย่างไร?

โรคงูสวัด คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา