backup og meta

Omicron (โอไมครอน) ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ควรระวัง

Omicron (โอไมครอน) ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ควรระวัง

ปัจจุบันโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลก ได้กลายพันธุ์ออกเป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น อัลฟา (Alpha) เบตา (Beta) แกมมา (Gamma) เดลตา (Delta) แต่ล่าสุดเมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ของแอฟริกาใต้พบ Omicron (โอไมครอน หรือ โอมิครอน) ซึ่งเป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกา และเริ่มแพร่ระบาดไปยังประเทศอื่น ๆ ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุถึงความรุนแรงของอาการ และประสิทธิภาพของวัคซีนต่อโควิด-19 สายพันธุ์นี้ได้ จึงแนะนำให้ทุกประเทศเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ให้ดี

ทำความรู้จักโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron

Omicron (โอไมครอน หรือ โอมิครอน) คือ เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองและเฝ้าระวังเป็นอย่างมากถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศแอฟริกา จากนั้นไม่นานก็ถูกพบอีกที่ประเทศฮ่องกง เบลเยี่ยม และอิสราเอล ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ร่วมประชุมเพื่อประเมินตัวแปรของไวรัส และได้ ยืนยันว่า Omicron เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีตัวแปร B.1.1.529 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวล ชนิดที่ 5 ถัดจากสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา 

ขณะนี้นักวิจัยยังคงตรวจสอบถึงตัวแปรไวรัสว่า สามารถแพร่กระจายได้ง่ายหรือไม่ ก่อให้เกิดอาการรุนแรงหรือไม่ และสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้หรือไม่ แต่จากหลักฐานเบื้องต้นพบว่า Omicron อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับตัวแปรไวรัสสายพันธุ์อื่น

ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการรับมือโรคระบาดของแอฟริกาใต้กล่าวว่า Omicron มีการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่ง โปรตีนส่วนหนามของไวรัส 32 ตำแหน่ง และการกลายพันธุ์ส่วนที่เป็นตัวจับเซลล์ในร่างกาย 10 ตำแหน่ง

ปัจจุบันนักวิจัยเร่งดำเนินการตรวจหา S gene target failure ซึ่งเป็นยีนที่สร้างโปรตีนส่วนหนามของไวรัส ด้วยวิธี RT-PCR เกือบทุกพื้นที่ในประเทศแอฟริกา อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ใช้วิธีดังกล่าวตรวจหาเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หากผลลัพธ์พบว่ายีนส่วนหนามขาดหายไป ให้คาดการณ์ว่าอาจเป็นสายพันธ์ Omicron และส่งตัวอย่างการทดสอบไปถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อยืนยันสายพันธ์ุในลำดับถัดไป

แต่ขณะเดียวกัน ชุดตรวจ PCR บางยี่ห้ออาจไม่สามารถตรวจจับได้เพราะเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์ไปมาก ดังนั้น หน่วยงานที่รับตรวจโควิด-19 จึงควรระมัดระวังในการเลือกชุดตรวจโควิด-19 ให้เหมาะสมและได้มาตรฐาน 

ในระหว่างการรอยืนยันการทดสอบประเมินตัวแปรที่แน่ชัด องค์การอนามัยโลกจึงขอความร่วมมือให้ทุกประเทศดำเนินการควบคุมป้องกันการแพร่กระจาย ดังต่อไปนี้

  • กำหนดมาตรการการเฝ้าระวัง
  • ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยังหน่วยงานที่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะชนให้รับทราบ
  • ประเมินผลและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่กระจาย Omicron ของผู้ติดเชื้อเบื้องต้น ว่า วัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน Omicron หรือไม่ จากการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของแต่ละประเทศ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลให้เกิดความเข้าใจที่อาจตรงกัน

วัคซีนโควิด-19 กับ Omicron

เนื่องจาก Omicron เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีตัวแปรไม่ชัดเจนและจัดอยู่ในกลุ่มน่ากังวล ซึ่งอาจต้านแอนติบอดีในร่างกาย และลดประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงไม่อาจบอกได้ว่าวัคซีนชนิดใดจะเหมาะสำหรับไวรัส Omicron มากที่สุด บริษัทผลิตวัคซีนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน 

บริษัทผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เผยว่า ขณะนี้ทางบริษัทกำลังดำเนินการวิจัยในบอตสวานาซึ่ง เป็นเขตที่พบ Omicron เพื่อหาข้อมูลไวรัสและนำไปเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพของวัคซีน อีกทั้ง ทางบริษัทได้นำยาแอนติบอดี AZD7442 เข้าร่วมการทดสอบใช้กับโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron

นอกจากนี้ บริษัทวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) กล่าวว่า ทางบริษัทอาจจำเป็นต้องผลิตวัคซีนชนิดใหม่ หรือปรับสูตรเพื่อต้านไวรัส Omicron ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ภายในปี พ.ศ. 2565 2022 สำหรับบริษัทวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) และจอห์น สัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) กำลังอยู่ในช่วงตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนเช่นเดียวกัน

การดูแลตัวเองเบื้องต้นจาก Omicron

องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของโควิด-19 ดังนี้

  • รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร
  • สวมใส่หน้ากากอนามัย
  • หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมากและแออัด
  • พยายามอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
  • ไอหรือ จามใส่ข้อศอกตนเอง
  • ฉีดวัคซีนโควิด-19

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Classification of Omicron (B.1.1.529): SARS-CoV-2 Variant of Concern. https://www.who.int/news/item/26-11-2021-classification-of-omicron-(b.1.1.529)-sars-cov-2-variant-of-concern . Accessed December 02, 2021

Omicron variant puts world in a ‘race against time’, says EU Commission President. https://edition.cnn.com/2021/11/28/world/coronavirus-omicron-variant-spreading-intl/index.html . Accessed December 02, 2021

Update on Omicron. https://www.who.int/news/item/28-11-2021-update-on-omicron . Accessed December 02, 2021

Moderna says an omicron variant vaccine could be ready in early 2022. https://www.cnbc.com/2021/11/28/moderna-says-an-omicron-variant-vaccine-could-be-ready-in-early-2022.html . Accessed December 02, 2021

รู้จัก “โอไมครอน” (Omicron) จากรายงานของ WHO. https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2252310 . Accessed December 02, 2021

Variants of Coronavirus. https://www.webmd.com/lung/coronavirus-strains#1 . Accessed December 02, 2021

Signatures in SARS-CoV-2 spike protein conferring escape to neutralizing antibodies. https://journals.plos.org/plospathogens/article?id=10.1371/journal.ppat.1009772 . Accessed December 02, 2021

ทำความรู้จัก โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” (Omicron) แพร่ไว หลบภูมิได้. https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1853770/ . Accessed December 02, 2021

โควิด : WHO ให้ชื่อ “โอไมครอน” สายพันธุ์ใหม่ที่พบแถบแอฟริกาใต้ หลายชาติกลับมาจำกัดการเดินทาง. https://www.bbc.com/thai/international-59428316 . Accessed December 02, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/12/2021

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรทำอย่างไร?

โควิดสายพันธุ์มิว ไวรัสกลายพันธุ์ เสี่ยงดื้อวัคซีน หลบภูมิคุ้มกัน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 02/12/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา