ในปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาตรการการจัดการศพผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 จึงต้องรัดกุมและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรค บทความนี้ Hello คุณหมอ นำ 5 แนวทาง จัดการศพผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มาให้คุณผู้อ่านได้ศึกษากันดู แนวทางที่ว่าจะมีอะไรบ้าง ติดตามอ่านได้ในบทความนี้เลยค่ะ
5 แนวทาง จัดการศพผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19
เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้เปิดเผยข้อมูลจากสถาบันพยาธิวิทยาการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับ 5 แนวทางจัดการศพผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต สารคัดหลั่งที่อยู่ในศพยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้
- เจ้าหน้าที่จึงควบคุมสารคัดหลั่ง โดยเก็บศพไว้ในถุงซิปกันน้ำอย่างน้อยสองชั้น และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทางด้านนอกถุงเก็บศพ
- ห้ามเปิดถุงเก็บศพออกโดยเด็ดขาด และจะไม่มีการอาบน้ำศพ รดน้ำศพ และฉีดยารักษาศพ
- บรรจุศพพร้อมถุงลงในโลงศพ ปิดฝาโลงให้สนิท ญาติหรือผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เสียชีวิต สามารถนำศพไปทำพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างปลอดภัย
- การเผาหรือฝังศพจะไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ
กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ข้อปฏิบัติในการจัดการศพที่ติดเชื้อโควิด-19
คำแนะนำในการจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สำหรับเจ้าหน้าที่และญาติ มีแนวทางการปฏิบัติดังต่อไปนี้
คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่
- ขณะจัดการศพจะต้องสวมชุดPPE ขณะทำงานตลอดเวลา และถอดชุดออกทันทีหลังเสร็จสิ้นการจัดการศพ
- เจ้าที่หน้าต้องเคยผ่านการอบรมการใส่-ถอด ชุดPPE และการจัดการศพมาก่อน
- สำหรับศพที่รอการยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ควรเก็บในตู้เย็นเก็บศพที่มีช่องแยก ห้ามเก็บในห้องเย็นหรือเก็บรวมกับศพอื่น ๆ
- หากศพได้รับการยืนยันว่าพบเชื้อ จะต้องบรรจุศพพร้อมถุงลงในโลงศพ หลังจากนั้นถึงประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ตามปกติ
คำแนะนำสำหรับญาติ
- ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ปฏิบัติงานในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สามารถสัมผัสศพโดยใส่ถุงมือที่ใช้แล้วทิ้ง สัมผัสผ่านถุงภายนอกที่ผ่านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว
- อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้สัมผัสกับถุงศพ เพราะน้ำยาฆ่าเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่นอกถุงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้
ข้อควรระวังในการจัดการศพที่ติดเชื้อโควิด-19
ข้อควรระวังในการจัดการศพที่ติดเชื้อโควิด-19 มีดังต่อไปนี้
- ไม่ควรถอดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจออก เช่น ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal Tube) ท่อสายยาง (Nasogastric tube) ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเก็บสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปตรวจยืนยันเชื้อ
- ไม่ควรใช้อุปกรณ์ฉีดพ่นน้ำหรือน้ำยาฆ่าเชื้อศพ ถุงศพ รถเข็นศพ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ในการจัดการศพ รวมถึงอุปกรณ์ทำความสะอาดพื้นที่ที่พบศพ ให้ใช้วิธีการขัด เช็ด ซับ หรือล้างแทน เพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค
- ไม่ควรเปิดถุงบรรจุศพหลังการเก็บศพ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค