เมื่อคุณเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease: COPD) มีบางสิ่งที่ทำให้อาการของคุณแย่ลงได้ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า สิ่งกระตุ้นอาการปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีสิ่งกระตุ้นแตกต่างกัน
สาเหตุของอาการในผู้ป่วยรายหนึ่ง อาจไม่ใช่ปัญหาของผู้ป่วยอีกรายหนึ่ง ฉะนั้น คุณจึงควรทำความเข้าใจให้ดีว่า สิ่งกระตุ้นสำหรับคุณคืออะไร และมีผลกระทบต่อคุณได้อย่างไร เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น
สิ่งกระตุ้นอาการปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีอะไรบ้าง
โดยปกติแล้ว สิ่งกระตุ้นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่
- ควันบุหรี่ หรือมลภาวะทางอากาศ
- อาการป่วย เช่น อาการหวัด หรือปอดบวม
- ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือสารเคมีอื่นๆ
- ก๊าซ อนุภาค หรือควันจากไม้ หรือเครื่องทำความร้อนในบ้าน
สิ่งกระตุ้นเหล่านี้ทำให้ปอดทำงานหนักขึ้น เนื่องจากเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหายใจลำบาก และอาการอื่นๆ เมื่อคุณอยู่ในบริเวณที่มีสิ่งกระตุ้น ก็มีแนวโน้มว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะแสดงอาการมากขึ้น และหากมีอาการรุนแรง คุณอาจต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน หรือต้องรีบไปพบโรงพยาบาลทันที
หากคุณทราบว่า สิ่งกระตุ้นอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังของคุณคืออะไร และสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นได้ ก็จะช่วยลดการกำเริบ และผลกระทบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ สิ่งสำคัญก็คือ คุณควรตื่นตัวอยู่เสมอ และรับประทานยาทุกวันตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดด้วย
เราสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นได้อย่างไรบ้าง
สิ่งแรกก็ คือ คุณต้องรู้ก่อนว่าสิ่งกระตุ้นอาการปอดอุดกั้นเรื้อรังของคุณคืออะไร
เมื่อคุณมีอาการ ให้จดบันทึกสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวคุณ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว แล้วพิจารณาถึงรูปแบบของการกระตุ้นที่เกิดขึ้น เมื่อคุณได้รายการของสิ่งกระตุ้นที่เป็นไปได้แล้ว ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าว
ต่อไปนี้เป็น แนวทางในการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ห้ามสูบบุหรี่ หรือไม่ให้ผู้อื่นสูบบุหรี่ใกล้คุณ หากคุณต้องการความช่วยเหลือในการเลิกสูบบุหรี่ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับโปรแกรมการเลิกบุหรี่และยาที่ใช้ ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ
- หากมีมลภาวะ ละอองเกสรดอกไม้ หรือฝุ่นภายนอกในปริมาณมาก ให้อยู่ในบ้านและปิดหน้าต่างให้สนิท หมั่นทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ และเครื่องกรองอากาศที่บ้านด้วย
- เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี รวมถึงควรเข้ารับวัคซีนนิวโมคอกคัส หรือวัคซีนปอดอักเสบด้วย
- ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่สัมผัสผ่านมือได้ โดยควรการล้างมืออย่างถูกวิธีให้ติดเป็นนิสัยเพื่อสุขอนามัยที่ดี
หากอาการกำเริบ ควรรับมืออย่างไรดี
หากอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ มีสติ อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป หากคุณมีแผนการรับมือแล้ว ให้ปฏิบัติตามแผนดังกล่าว โดยทั่วไปแล้วได้แก่
- ใช้ยาสำหรับสูดดม หรือยาพ่นตามที่แพทย์สั่ง หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยา ต้องให้คนใกล้ตัวพาไปห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล ให้เรียกรถพยาบาลหากจำเป็น โดยหมั่นสังเกตและระมัดระวังตนเองเสมอ
- หากแพทย์ให้ยาสำหรับสูดดมอื่นๆ ยาเม็ดสเตียรอยด์ หรือยาปฏิชีวนะใดๆ ให้ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา คุณสามารถสอบถามจากแพทย์ หรือเภสัชกรได้ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่คุณเป็นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถือเป็นการป้องกันและลดโอกาสแสดงอาการได้ดีที่สุด และไม่เพียงแต่จะช่วยผลักดันตัวเองในการรักษา แต่ยังเป็นแรงกระตุ้นให้คุณได้ช่วยผู้อื่นที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเช่นเดียวกับคุณด้วย
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด