ปากมดลูก เป็นส่วนที่อยู่ระหว่างช่องคลอดและมดลูก เมื่อเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วก็อาจพัฒนากลายไปเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า มะเร็งปากมดลูกเกิดจาก อะไร และอาจป้องกันได้ด้วยวิธีใดบ้าง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้
มะเร็งปากมดลูกคืออะไร
มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดบริเวณปากมดลูก ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อกลวงที่เชื่อมระหว่างช่วงล่างของมดลูกและช่องคลอด เซลล์มะเร็งปากมดลูกมักเกิดขึ้นที่บริเวณพื้นผิวของปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการใด ๆ ส่วนใหญ่อาการจะแสดงออกเมื่ออยู่ในระยะลุกลาม โดยอาการที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งปากมดลูก ได้แก่
- เลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกระหว่างมีประจำเดือน เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะผิดปกติ เช่น กลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หรือปัสสาวะกะปริดกะปรอย
- เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ
- ปวดกระดูกเชิงกราน
มะเร็งปากมดลูกเกิดจาก อะไร
ส่วนใหญ่แล้ว มะเร็งปากมดลูกเกิดจาก การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus หรือ HPV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ ไวรัสชนิดนี้มีอยู่หลายร้อยสายพันธุ์ แต่สายพันธ์ที่มักทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมี 2 สายพันธุ์ คือ HPV-16 และ HPV-18
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีเชื้อ HPV-16 และ HPV-18 ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูกเสมอไป เพราะร่างกายสามารถกำจัดเชื้อเหล่านี้ได้ภายใน 2 ปี ในกรณีส่วนใหญ่การติดเชื้อ HPV จะติดจากการสัมผัสทางผิวหนัง เช่น ทางบาดแผล ทางการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากจะทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว เชื้อไวรัสเอชพีวี ยังอาจทำให้เป็นมะเร็งต่อไปนี้ได้ด้วย
- มะเร็งปากช่องคลอด
- มะเร็งช่องคลอด
- มะเร็งองคชาต
- มะเร็งทวารหนัก
- มะเร็งที่ลำคอ
วิธีลดความเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูก
วิธีที่อาจป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ดีที่สุด คือ การลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ด้วยวิธีต่อไปนี้
การฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนป้องกัน HPV เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ HPV-16 และ HPV-18 วิธีนี้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก และโรคที่เกิดจากไวรัส HPV ได้ ซึ่งกลุ่มอายุที่เหมาะแก่การฉีดวัคซีน คือ 9-45 ปี
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
การเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปีถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21-65 ปี
มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
การมีเพศสัมพันธ์เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เชื้อ HPV แพร่กระจายได้ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น การสวมถุงยางอนามัย สามารถช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ HPV ได้ แต่ก็ยังอาจเสี่ยงติดเชื้อติดเชื้อ HPV ในบริเวณอื่น ๆ ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยได้ อย่างไรก็ตาม การสวมถุงยางอนามัยอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การมีคู่นอนเพียงคนเดียวด้วย จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ได้มากขึ้น