มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทยและทั่วโลก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 13,000 คน ต่อปี ซึ่งมะเร็งเต้านมมีหลายประเภท โดยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งการเกิดของเซลล์มะเร็ง และระยะของมะเร็ง ประเภทของมะเร็งเต้านม อาจเป็นชนิดที่ลุกลาม หรือไม่ลุกลามก็ได้
[embed-health-tool-ovulation]
ประเภทของมะเร็งเต้านม
ประเภทของมะเร็งเต้านม สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
- มะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลาม เป็นมะเร็งเต้านมที่ยังไม่มีการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งออกจากจุดต้นกำเนิด โดยชนิดนี้ยังแบ่งย่อยลงไปอีก เช่น
- มะเร็งในท่อน้ำนมระยะศูนย์ (Ductal Carcinoma in Situ: DCIS) คือ พบเซลล์ผิดปกติในเยื่่อบุของท่อน้ำนมบริเวณเต้านม และยังไม่แพร่กระจายออกนอกผนังท่อน้ำนม แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษามะเร็งชนิดนี้อาจแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง และอาจกลายเป็นมะเร็งเต้านมชนิดลุกลาม
- มะเร็งในต่อมน้ำนมชนิดไม่ลุกลาม (Lobular Carcinoma in Situ: LCIS) คือ พบเซลล์ผิดปกติในต่อมน้ำนม โดยเซลล์ที่ผิดปกติไม่ได้ถือเป็นมะเร็งแต่อย่างใดและอาจไม่ต้องรักษา เพียงแต่อาจมีการตรวจเช็คเป็นระยะ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง แต่มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคต
- มะเร็งเต้านมชนิดลุกลาม เป็นมะเร็งที่มีการแพร่กระจายจากจุดเริ่มต้นของเต้านมไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง โดยแบ่งย่อยลงไปอีก เช่น
- มะเร็งท่อน้ำนมแบบลุกลาม (Invasive Ductal Carcinoma: IDC) คือ เซลล์มะเร็งผิดปกติที่เริ่มจากท่อน้ำนม ได้แพร่กระจายและลุกลามไปยังบริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียง ที่อาจจะลุกลามหรือไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
- มะเร็งต่อมน้ำนมแบบลุกลาม (Invasive Lobular cancer: ILC) คือ เซลล์มะเร็งที่เริ่มลุกลามจากต่อมน้ำนมไปยังเนื้อเยื้อข้างเคียง ผ่านทางระบบเลือด หรือน้ำเหลือง เช่นเดียวกับ IDC
ประเภทของมะเร็งเต้านม ชนิดอื่น ๆ ประกอบด้วย
- มะเร็งเต้านมชนิด Triple Negative เป็นมะเร็งที่ไม่มีตัวรับฮอโมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรน และยีนส์ HER2 ทำให้รักษายาก และแพร่กระจายได้รวดเร็วมะเร็งเต้านมอักเสบ (Inflammatory Breast Cancer: IBC) เซลล์มะเร็งได้แทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังและท่อน้ำเหลืองของเต้านม เป็นมะเร็งแบบลุกลามที่พบได้น้อย ประมาณ 1-3% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม แต่เป็นมะเร็งชนิดที่รุนแรง โดยจะมีอาการเต้านมบวมแดง ผิวของเต้านมอาจมีรอยบุ๋ม รอยย่นเหมือนเปลือกส้ม คล้ายภาวะเต้านมอักเสบ
- มะเร็งที่หัวนม (Paget’s disease of the breast) เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อย เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณหัวนมหรือบริเวณที่ต่ำลงมาจากหัวนม ซึ่งส่งผลต่อผิวหนังของหัวนม อาจมีอาการคันที่หัวนม และมีผื่นแดง คล้ายผื่นผิวหนังอักเสบ
- มะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Metastatic Breast Cancer) เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง
ระยะมะเร็งเต้านม
ระยะของมะเร็งเต้านมนั้นสามารถ แบ่งแยกออกเป็นระยะต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้
- ระยะที่ 0 เป็นระยะแรกที่ยังไม่มีการลุกลาม หรือแพร่กระจาย
- ระยะที่ 1 มะเร็งที่เริ่มลุกลาม ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กประมาณ 2 ซม. และยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายเพียงเล็กน้อยระดับเซลล์
- ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งที่ขนาดระหว่าง 2 ซม. ถึง 5 ซม. และ/หรือมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน
- ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งที่มีขนาดประมาณ 5 ซม. และแพร่กระจายไปในต่อมน้ำเหลืองที่ใต้วงแขนอย่างมากหรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ
- ระยะที่ 4 ก้อนมะเร็งอาจมีขนาดเล็ก หรือใหญ่ก็ได้ โดยแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ปอด กระดูก ตับ
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม เป็นการตรวจเพื่อหาก้อนเนื้องอก หรือเซลล์มะเร็ง รวมถึงอาการของโรค อาจมีการวินิจฉัยด้วยการตัดคัดกรอง เช่น
- การตรวจเต้านมโดยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม เป็นเครื่องเอ๊กซเรย์รังสีปริมาณต่ำที่จะมีฐานรองรับเต้านม เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการตรวจหามะเร็งเต้านมตั้งแต่เนิ่น ๆ
- การอัลตร้าซาวด์ ควรทำควบคู่กับการทำดิจิตอลแมมโมแกรม เพื่อดูขนาดก้อนหรือถุงน้ำได้ชัดเจนขึ้น
- การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการตรวจเพิ่มเติม เพื่อการคัดกรองในบุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าปกติ หากตรวจด้วยแมมโมแกรม หรือวิธีการอื่น ๆ แล้วไม่ชัดเจน
- การตัดชิ้นเนื้อตรวจ เมื่อพบก้อนหรือถุงน้ำที่สงสัย