backup og meta

มะเร็งเต้านม…กับทางเลือกใหม่ รักษาแบบพุ่งเป้า หายได้และป้องกันการเกิดซ้ำ

มะเร็งเต้านม…กับทางเลือกใหม่ รักษาแบบพุ่งเป้า หายได้และป้องกันการเกิดซ้ำ

มะเร็งเต้านม โรคร้ายที่พบมากที่สุดในผู้หญิง ภัยเงียบที่ทำให้ผู้ป่วยหลายรายเสียชีวิตอย่างไม่ทันตั้งตัว เพราะโรคร้ายนี้มักจะไม่มีสัญญาณเตือน รู้อีกทีอาจจะต้องเข้าห้องผ่าตัดเพื่อไปตัดเต้านมทิ้ง ซึ่งเป็นการรักษาอาการไม่ให้รุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิต แต่ด้วยนวัตกรรมและวิทยาการด้านการแพทย์ในปัจจุบัน การตัดเต้านม ไม่ใช่ทางออกเดียวในการรักษาโรค เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและเพิ่มทางเลือกการรักษาให้กับผู้ป่วย และยังเพิ่มแนวโน้มการรักษาให้หายขาดโดยไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งหมด ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากที่สุด

มะเร็งเต้านมกับการรักษา

การรักษามะเร็งเต้านมจะขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น โดยระยะ 0-2 ที่เป็นระยะเริ่มแรกนั้น การรักษาหลัก คือ การผ่าตัด ส่วนระยะ 3-4 คือ ระยะที่มะเร็งเริ่มลุกลาม สำหรับระยะที่ 3 นั้นยังคงมีการผ่าตัดร่วมด้วยและจำเป็นต้องใช้เคมีบำบัดเข้ามาช่วยรักษา แต่ในระยะ 4 ที่เป็นระยะสุดท้าย การรักษาอาจไม่หายขาด และอาจเพิ่มความรุนแรงกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมชนิดที่มียีนเฮอร์ทูเป็นบวก (HER2 Positive) ซึ่งเป็นชนิดที่เกิดการลุกลามได้ง่าย แพร่กระจายเร็ว และมีโอกาสโรคกำเริบสูง

ปัจจุบันแบ่งการรักษาเป็น 2 แบบหลัก คือ

1. การรักษาเฉพาะที่ (Local Treatment) ทำได้ 2 แบบ คือ การผ่าตัดเต้านมและฉายรังสี วิธีนี้มุ่งหวังการรักษาให้หายขาด เพราะเป็นการตัดหรือกำจัดเซลล์มะเร็งออกจากร่างกาย แต่จะทำได้ต่อเมื่อพบอาการตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม การผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ยังมีโอกาสสูง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องเตรียมพร้อมยอมรับการตัดเต้านมทิ้ง เพื่อตัดวงจร ไม่ให้โรคมะเร็งเต้านมกลับมาอีก

2. การรักษาที่ครอบคลุมรอยโรคทั้งร่างกาย (Systemic Treatment) ได้แก่ ยาเคมี ยาต้านฮอร์โมน หรือยาพุ่งเป้า วิธีใช้แบ่งเป็น 2 แบบ คือ ให้เป็นการรักษาเสริมก่อน และ/หรือ หลังการผ่าตัด หรือใช้ในกรณีที่โรคแพร่กระจายแล้ว

ยาเคมีบำบัด จะช่วยควบคุมเซลล์มะเร็งไม่ให้ลุกลาม รวมทั้งยังช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ในร่างกาย แต่ข้อเสียคือ ยาเคมีบำบัดอาจส่งผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายส่วนอื่นด้วยโดยเฉพาะเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็ว เช่น เส้นผม เยื่อบุทางเดินอาหาร จึงอาจเกิดผลข้างเคียงกับอวัยวะนั้น ๆ ตามมา

ยาต้านฮอร์โมน ใช้เฉพาะมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมน (Estrogen receptor / Progesterone receptor) เป็นบวกเท่านั้น อาจให้เป็นการรักษาเสริมหลังการผ่าตัด หรือในกรณีที่โรคแพร่กระจายแล้วก็ได้ ยากลุ่มนี้ผลข้างเคียงไม่มากนัก

การรักษาแบบพุ่งเป้า (Targeted Therapy) ร่วมด้วย เป็นการรักษาอีกรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องแบกรับความเจ็บปวดหรืออาการข้างเคียงแบบยาเคมีบำบัด การใช้ยาพุ่งเป้าที่ออกฤทธิ์จำเพาะเป็นรูปแบบการรักษาแนวใหม่ที่ตัวยาจะเข้าไปทําลายเฉพาะเซลล์ที่มีความผิดปกติ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้นและมีผลข้างเคียงที่เกิดกับผู้ป่วยน้อยลง

ทั้งนี้ การรักษามะเร็งเต้านมในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับอาการของโรค ระยะที่พบ รวมทั้งการตัดสินใจของผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ผู้วินิจฉัยโรคในการเลือกวิธีการรักษามะเร็งเต้านมที่เหมาะสม

ทางเลือกใหม่ รักษามะเร็งเต้านมแบบพุ่งเป้า (Targeted Therapy)

จากข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทย พบว่า 1 ใน 3 เป็นชนิด HER2 Positive (HER2 Positive Breast Cancer) ซึ่งเป็นชนิดที่รุนแรง และอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ ดังนั้น การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเน้นไปที่การใช้ยาพุ่งเป้า คือ ยาต้านเฮอร์ทู (HER2)

ข้อดีของการ รักษาแบบพุ่งเป้า คือ ตัวยามุ่งทำลายเฉพาะเซลล์ที่ผิดปกติ ประสิทธิภาพการรักษาจึงเพิ่มขึ้น ในขณะที่เกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยลดลง การ รักษาแบบพุ่งเป้า แบ่งได้ 2 แบบ คือ

1. การรักษาด้วย ยาพุ่งเป้าต่อยีนก่อมะเร็งเฮอร์ทู

ในผู้ป่วยที่พบว่ามีการเพิ่มจำนวนของตัวรับเฮอร์ทู (HER2 Receptor) บนผิวเซลล์เป็นจำนวนมาก เมื่อได้รับการกระตุ้นจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวได้เร็วขึ้น เพิ่มความรุนแรงของอาการโรค ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลุ่ม HER2 Positive ต้องได้รับการตรวจละเอียดเพิ่มเติม เพื่อวัดปริมาณของตัวรับเฮอร์ทู (HER2 Receptor) และลักษณะของตัวรับบนผิวเซลล์ เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและเลือกตัวยาต้านเฮอร์ทู (HER2) ที่พุ่งเป้าการรักษาได้อย่างเหมาะสม

โดยมีกลุ่มตัวยาสำคัญ ได้แก่ ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) เพอร์ทูซูแมบ (Pertuzumab) ลาพาตินิบ (Lapatinib) และ ทีดีเอ็มวัน (T-DM1) ซึ่งเป็นตัวใหม่ในกลุ่มยาต้านเฮอร์ทู ประกอบขึ้นด้วยทราสทูซูแมบและยาเคมีบำบัด เป็นรูปแบบยาฉีด จะออกฤทธิ์ทำลายมะเร็งเมื่อยาเข้าไปจนถึงเซลล์มะเร็งแล้ว จึงเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งเต้านมได้มากขึ้น

ดังนั้น การตรวจพบเร็วและรู้ว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะใดก็จะส่งผลดีต่อการหาวิธีรักษาได้รวดเร็วขึ้น หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งในระยะแรก จะยิ่งเพิ่มแนวโน้มให้การรักษาหายได้ หรือเมื่อเข้าสู่ระยะแพร่กระจายก็จะต่อชีวิตได้นานขึ้นเมื่อได้รับยาต้านเฮอร์ทู (HER2) อย่างทันท่วงที

2. การรักษาด้วย ยาพุ่งเป้าสําหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ติดตัวรับทางฮอร์โมน

ยาพุ่งเป้าสําหรับผู้ป่วยที่ติดตัวรับฮอร์โมน จะช่วยยับยั้งวงจรการแบ่งตัวของเซลล์และมีประสิทธิภาพช่วยชะลอการแพร่กระจาย อีกทั้งยังทำให้ก้อนมะเร็งที่กระจายไปนั้นยุบลงได้ ซึ่งยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาพาลโบไซคลิบ (Palbociclib) ไรโบไซคลิบ (Ribociclib) และ อะมีบาไซคลิบ (Abemaciclib) มักใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ติดตัวรับทางฮอร์โมนในระยะแพร่กระจายและใช้ควบคู่กับยาต้านฮอร์โมนที่แพทย์ประเมินให้

ทางเลือกใหม่ในการรักษามะเร็งเต้านมด้วยยาต้านเฮอร์ทู (HER2) นี้ ไม่เพียงแต่ให้ผลทางประสิทธิภาพในการรักษา แต่ยังเพิ่มกำลังใจให้กับผู้ป่วยและลดอาการข้างเคียงด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และการตัดสินใจร่วมกันกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ว่าจะรักษาในรูปแบบใด

การป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด คือ การสังเกตความผิดปกติของเต้านมและการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องมือทางการแพทย์อยู่เสมอ เพื่อป้องกันโรคและรักษาอาการได้ทันท่วงที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ และ อ.นพ.วิษณุ โล่สิริวัฒน์, “ความรู้เพื่อประชาชนเรื่องมะเร็งเต้านม” หนังสือชุดติดความรู้มะเร็ง.

ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ และ อ.นพ.วิษณุ โล่สิริวัฒน์, “ความรู้เพื่อประชาชนเรื่องการรักษามะเร็งเต้านม” หนังสือชุดติดความรู้มะเร็ง.

HER2 Positive คืออะไร สามารถให้การรักษาอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง. https://www.chulacancer.net/faq-list-page.php?id=305. Accessed on June 10, 2021.

มะเร็งเต้านม. http://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_ca.php?newsID=3&typeID=18. Accessed on June 9, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2021

เขียนโดย Jittraporn Pichaikarn

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Jittraporn Pichaikarn

อัปเดตโดย: Jittraporn Pichaikarn


บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) หนึ่งในโรคร้ายที่ควรทำความเข้าใจให้มากขึ้น

ไลฟ์สไตล์อันตรายที่อาจนำไปสู่ โรคมะเร็งเต้านม


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Jittraporn Pichaikarn


เขียนโดย Jittraporn Pichaikarn · แก้ไขล่าสุด 31/10/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา