Gangrene คือ แผลเนื้อตาย ซึ่งเกิดจากการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงหรืออาจเกิดจากการติดเชื้อรุนแรง มักพบในผู้ป่วยเบาหวานที่ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน หรือผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด อย่างไรก็ตาม Gangrene หรือ แผลเนื้อตายสามารถป้องกันได้ด้วยการหมั่นตรวจสุขภาพเท้าเป็นประจำ และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
Gangrene คือ อะไร
Gangrene คือแผลเนื้อตาย ซึ่งสามารถเกิดได้กับเนื้อเยื่อต่าง ๆ ส่วนที่เลือดได้รับเลือดหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง
ปกติแล้ว แผลเนื้อตายมักพบบริเวณปลายนิ้วเท้า นิ้วมือ เท้า ขา และมือ โดยมีอาการดังนี้
- ผิวหนังบางลง ผิวแห้ง ขนที่บริเวณส่วนนั้น ๆ ร่วง (เป็นอาการแรกเริ่มของการที่เลือดไหลเวียนไม่ดี)
- ผิวหนังเปลี่ยนจากสีปกติ เป็นค่อยๆซีดลงและเริ่มเปลี่ยนเป็นสเทา ม่วง หรือดำในที่สุด
- อุณหภูมิของส่วนนั้น ๆ เย็นกว่าปกติ
Gangrene มีสาเหตุจากอะไร ปัจจัยเสี่ยงที่ให้เกิดแผลเนื้อตาย
แผลเนื้อตาย เป็นภาวะแทรกซ้อนอาจพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี จนทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง นำไปสู่สาเหตุของแผลเนื้อตายได้ดังต่อไปนี้
- การไหลเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ เมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง นอกจากจะทำให้หลอดเลือดส่วนต่าง ๆ เสื่อมลง ไขมันจะสะสมในผนังหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงจนอาจถึงกับอุดตันในที่สุด ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย เช่น ปลายนิ้ว เท้า ได้ตามปกติ จนทำให้ส่วนนั้น ๆ ขาดเลือด และเกิดแผลเนื้อตายตามมา
- แผลหายช้ากว่าปกติ ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี เมื่อมีบาดแผลแล้วมักหายได้ช้ากว่าคนทั่วไป เพราะออกซิเจน สารอาหาร และ เซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่ช่วยสมานบาดแผลไม่สามารถไหลเวียนไปยังแผลได้สะดวก เนื่องากหลอดเลือดแคบลงหรืออุดตัน และยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนอีกด้วย
- เส้นประสาทเสื่อม ทำให้มีอาการชา ไม่สามารถรับความรู้สึกได้ตามปกติ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจะทำให้ผนังเส้นเลือดฝอยที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทเสียหาย จนเกิดอาการชา โดยมักเริ่มมีอาการที่เส้นประสาทส่วนปลายก่อน โดยเฉพาะบริเวณปลายนิ้วเท้า ปลายนิ้วเท้า และเท้า ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดบาดแผลติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากอาการชาทำให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่รู้สึกเจ็บ จึงไม่ทันสังเกตเวลาเป็นแผล และอาจปล่อยแผลทิ้งไว้โดยไม่ได้ดูแลให้ดี เชื้อแบคทีเรียจึงอาจเข้าไปในบาดแผลจนเกิดการติดเชื้อในระดับรุนแรงได้
Gangrene มีกี่ชนิด แต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร
แผลเนื้อตายอาจแบ่งหลัก ๆ ตามสาเหตุและลักษณะแผลเบื้องต้นได้ดังนี้
- Dry Gangrene คือ แผลเนื้อตายที่เกิดจากการขาดเลือด ผิวหนังและเนื้อเยื่อ ทำให้บริเวณนั้นแห้ง หดตัว และเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ จนฝ่อตัวลงและเปลี่ยนเป็นสีดำในที่สุด แผลเนื้อตายชนิดนี้มักไม่ลุกลามไปบริเวณใกล้เคียงหากไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน และมักเกิดกับอวัยวะส่วนปลาย เช่น นิ้วเท้า
- Wet Gangrene คือ แผลเนื้อตายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย อาจเกิดได้ทั้งแผลติดเชื้อรุนแรง หรือเกิดจาก Dry gangrene แล้วมีการติดเชื้อแทรกซ้อนก็ได้ อาการและลักษณะแผลโดยรวมจะคล้ายกับ Dry Gangrene แต่อาจมีตุ่มน้ำใส หนอง ขอบแผลพุพองร่วมด้วยได้ ผู้ที่มี Wet gangrene อาจมีไข้เนื่องจากการอักเสบติดเชื้อ ร่วมกับแผลมีแนวโน้มลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียงได้มากกว่า Dry Gangrene
- Gas Gangrene คือ แผลเนื้อตายที่มีการเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium Perfringens) ซึ่งเป็นเชื้อที่เจริญในภาวะที่ไม่มีออกซิเจน มักทำให้ติดเชื้อในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่อยู่ลึกลงไป ผิวหนังบริเวณแผลอาจซีดกลายเป็นสีเทาและสีม่วงอมแดงในภายหลัง และหากกดบริเวณที่ติดเชื้อ อาจรู้สึกคล้ายมีฟองอากาศอยู่ข้างใน เนื่องจากคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์จะสร้างก๊าซออกมาระหว่างที่เจริญเติบโต
Gangrene รักษาอย่างไร
เมื่อมีเนื้อตายเน่า คุณหมออาจรักษาอาการต่าง ๆ ด้วยวิธีต่อไปนี้
- การผ่าตัดเนื้อตายเน่าออก เพื่อป้องกันการลุกลามหรือการติดเชื้อเพิ่มเติม หากมีเนื้อตายเกิดขึ้นเป็นวงกว้างหรือมีแนวโน้มลุกลาม บางกรณีคุณหมออาจจำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้ง มักพบในผู้ที่มีอาการเนื้อตายบริเวณเท้าหรือขาที่ไม่ตอบสนองด้วยวิธีการรักษาอื่น ๆ
- ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มีทั้งรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดและแบบรับประทาน เพื่อป้องกันไม่ให้การติดเชื้อลุกลาม
- การผ่าตัดหลอดเลือดที่ตีบแคบหรืออุดตัน เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะบริเวณขาหรือเท้า ซึ่งมักช่วยให้อาการเนื้อตายเน่าดีขึ้น
- การรักษาด้วยออกซิเจนความดันสูง (Hyperbaric oxygen therapy) เพื่อให้ออกซิเจนไหลไปยังบริเวณแผลได้ดีขึ้น และช่วยชะลอการเติบโตของแบคทีเรีย และช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น
Gangrene ป้องกันได้หรือไม่
ผู้ป่วยเบาหวานที่หมั่นดูแลสุขภาพตนเอง ไปพบคุณหมอ และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ มักจะลดความเสี่ยงของการเกิดแผลเนื้อตายได้ รวมทั้งอาจปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตนเองเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย แนะนำว่า ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลก่อนมื้ออาหารให้อยู่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และหลังมื้ออาหารไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ตรวจสอบสุขภาพเท้าเป็นประจำทุกวันว่ามีบาดแผลหรือไม่ หากพบแผล ควรทำความสะอาด ใส่ยาให้เรียบร้อย และระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำหรืออับชื้น
- สวมถุงเท้าและรองเท้าที่ห่อหุ้มบริเวณปลายเท้าตลอดเวลาแม้อยู่ในบ้าน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บหรือรอยขีดข่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ บริเวณเท้า ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว จนอาจนำไปสู่แผลเท้าเบาหวานเรื้อรังได้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เพราะน้ำหนักที่มากเกินไปอาจเพิ่มแรงกดต่อหลอดเลือดแดง ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก
- ตรวจสุขภาพเท้าประจำทุกปี
- พยายามกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงตามปลายมือปลายเท้าอยู่เสมอ ด้วยการยกเท้าขึ้นหรือสะบัดมือสะบัดเท้าเมื่ออยู่ในท่านั่ง รวมถึงเลือกทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการไหลเวียนของเลือด เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน