โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอในการใช้จัดการกับน้ำตาลในเลือด หรืออาจเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ที่เซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่โรคเบาหวานได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน เช่น โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะส่วนใด อาการของโรคเบาหวาน อาจช่วยให้สามารถป้องกันหรือควบคุมอาการของโรคเบาหวานไม่ให้รุนแรงจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
[embed-health-tool-bmi]
โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะส่วนใด
โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน เนื่องจากเซลล์ชนิดเบต้า (Beta Cells) ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในการกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายนำน้ำตาลในกระแสเลือดที่ได้จากอาหารมาใช้เปลี่ยนเป็นพลังงานในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติและเข้าโจมตีเซลล์ผลิตอินซูลิน จะทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยลงจนไม่พอใช้งาน ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้นและเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ตามมา หรือหากร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งแม้ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินได้ตามปกติ แต่เซลล์ของร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเกิดเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน
อาการของโรคเบาหวาน
อาการของโรคเบาหวานที่ควรสังเกต มีดังนี้
- กระหายน้ำมากและถ่ายปัสสาวะบ่อย คนทั่วไปมักปัสสาวะ 4-7 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง (อาจขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่มด้วย) แต่ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือเป็นโรคเบาหวานจะมีอาการถ่ายปัสสาวะบ่อย เนื่องจากไตขับน้ำตาลส่วนเกินออกในรูปแบบปัสสาวะ จึงทำให้ถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น ต้องตื่นมาถ่ายปัสสาวะตอนกลางคืนหลังจากที่หลับไปแล้ว นอกจากนี้ การถ่ายปัสสาวะบ่อยยังทำให้เสียน้ำออกจากร่างกาย จึงทำให้รู้สึกกระหายน้ำมากขึ้นและดื่มน้ำบ่อยขึ้นตามมา จนส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยได้อีกเช่นกัน
- หิวบ่อยและมีอาการเหนื่อยล้า หากควบคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดี นอกจากจะทำให้เสียน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะ จนเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำแล้ว การที่ร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม ยังทำให้ร่างกายขาดพลังงาน จึงเกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และอาจทำให้รู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติ
- ปัญหาด้านการมองเห็น หากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้หลอดเลือดที่จอประสาทตาเสียหาย และส่งผลให้ตาพร่ามัว มองเห็นเป็นภาพเบลอไม่ชัดเจน และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
- ปากแห้งและผิวแห้ง อาจเกิดจากร่างกายขาดน้ำเนื่องจากปัสสาวะบ่อยเกินไปและดื่มน้ำทดแทนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผิวขาดความชุ่มชื้น นำไปสู่อาการผิวแห้ง ปากแห้ง และคันตามบริเวณผิวหนังได้
- น้ำหนักลดลง ปกติแล้วอินซูลินจะทำหน้าที่ดึงน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน แต่ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้วควบคุมได้ไม่ดี ปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนเกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานได้อย่างเพียงพอ อาจทำให้ร่างกายจำเป็นต้องเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทน จึงส่งผลให้น้ำหนักลดลงได้
- แผลหายช้า หากควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เส้นเลือดและเส้นประสาทเสื่อมลง จนกระทบต่อการไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนเพื่อนำเม็ดเลือดและสารที่มีประโยชน์ไปยังบริเวณบาดแผลได้ไม่ดี ส่งผลให้กระบวนการสมานแผลมีประสิทธิภาพลดลง นอกจากนี้ยังเสี่ยงเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
- ปลายมือ ปลายเท้าชา เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจนหลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณส่วนปลายเสียหาย เช่น เส้นประสาทที่เลี้ยงบริเวณปลายมือและเท้า ส่งผลให้เกิดอาการชา หรือในบางรายอาจมีอาการปวดแสบที่บริเวณปลายมือ-เท้า
การรักษาโรคเบาหวาน
การรักษาโรคเบาหวาน อาจทำได้ ดังนี้
การฉีดอินซูลิน
การรักษาด้วยยาฉีดอินซูลินจะเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 (ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ) ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ใช้ยารับประทานแล้วยังควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี และผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยอินซูลินที่ใช้จะเป็นอินซูลินสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เสมือนฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน ในเบื้องต้น สามารถแบ่งยาฉีดอินซูลินตามระยะเวลาการออกฤทธิ์ได้ 4 ประเภท ดังนี้
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว เริ่มออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาทีหลังจากฉีด และออกฤทธิ์นาน 3-5 ชั่วโมง จึงควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 5-15 นาที มักใช้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นหลังจากรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ และใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์นาน
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น/ปกติ ออกฤทธิ์เต็มที่หลังฉีดประมาณ 30 นาที และออกฤทธิ์นาน 5-8 ชั่วโมง จึงควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 30 นาที มักใช้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นหลังจากรับประทานอาหารในแต่ละมื้อเช่นเดียวกับอินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง ออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์นาน 10-18 ชั่วโมง อาจใช้วันละ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์สั้น หรืออาจใช้เสริมจากการรับประทานยา เพื่อควบคุมเบาหวานให้ได้ดียิ่งขึ้น
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์ต่อเนื่องยาวนาน 24 ชั่วโมง จึงควรใช้วันละครั้ง มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วหรือสั้น หรือเสริมจากการยารับประทาน เช่นเดียวกับอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง
การใช้ยารักษาโรคเบาหวาน
ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือยารักษาโรคเบาหวานชนิดรับประทาน นับเป็นวิธีการรักษาหลักของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 โดยในปัจจุบันมียารักษาเบาหวานอยู่หลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลผ่านกลไกที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินจากตับอ่อน เช่น ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ยาที่ช่วยให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น เพื่อนำน้ำตาลไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้เพิ่มขึ้น หรือยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มในสมองที่ช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น ทั้งยังมียาที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกที่ไต ช่วยเพิ่มการขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ โดยคุณหมอจะพิจารณาการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวานแต่ละราย เนื่องจากอาจต้องคำนึงถึงโรคร่วมและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นด้วย ผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรซื้อยา หรือปรับยาเอง
การปลูกถ่ายตับอ่อน
เป็นวิธีการสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งตับอ่อนไม่สามารถผลิดฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ หากผ่าตัดสำเร็จอาจไม่จำเป็นต้องใช้อินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลอีก แต่จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านตับอ่อนที่ปลูกถ่ายไปตลอดชีวิต
การผ่าตัดลดความอ้วน
เป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหาร เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีปัญหาโรคอ้วน หรือมีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่า 35 วิธีนี้จะช่วยลดการดูดซึมอาหารและน้ำตาล จึงช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
วิธีป้องกันโรคเบาหวาน
นอกจากการทำความเข้าใจว่า โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะส่วนใด หรือเกิดจากสาเหตุใดแล้ว การดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้นด้วยวิธีดังต่อไปนี้ ก็อาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควรเน้นรับประทานอาหารกลุ่มที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อาหารที่มีเส้ยใยสูง มีน้ำตาลและแคลอรีต่ำ รวมทั้งมีไขมันดีเป็นส่วนประกอบ เช่น อะโวคาโด น้ำมันมะกอก ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม สับปะรด ปลาแซลมอน ปลาทูน่า อัลมอนด์ ถั่วเหลือง มะเขือเทศ ผักคะน้า กะหล่ำ ผักกาด ซึ่งจะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน จึงอาจช่วยให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงอาหารที่มีน้ำตาลและแป้งสูง เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม ข้าวขาว น้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มันฝรั่ง ข้าวโพด อาหารแปรรูป เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้พัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานได้ในอนาคต
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น วิ่งเหยาะ วิ่งบนลู่วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ หรือรวมอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ เพราะการออกกำลังกายไม่เพียงแต่จะช่วยเผาผลาญน้ำตาลและพลังงานส่วนเกิน แต่ยังส่งผลให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น จึงมีส่วนช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นด้วย
- เลิกสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทั้งยังส่งผลให้สุขภาพโดยรวมไม่ดี ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลายชนิด เช่น หัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง
- ตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำด้วยเครื่องตรวจปลายนิ้ว สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน ช่วยให้ทราบค่าระดับน้ำตาลของตัวเองว่าสูงมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น ทั้งนี้ แนะนำให้จดบันทึกค่าน้ำตาลและช่วงเวลาที่ตรวจแต่ละครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลเสริมแจ้งให้คุณหมอทราบ และช่วยให้คุณหมอปรับการดูแลรักษาได้เหมาะสมยิ่งขึ้น