backup og meta

หน้ามัน เกิดจากอะไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    หน้ามัน เกิดจากอะไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร

    หน้ามัน เกิดจากการที่ต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตไขมันออกมามากกว่าปกติ จนอาจทำให้สิ่งสกปรกอุดตันและก่อให้เกิดสิว ปัจจัยที่ทำให้หน้ามันมีหลายประการ เช่น พันธุกรรม อายุ สภาพอากาศ ความอ้วน อย่างไรก็ตาม หน้ามันอาจป้องกันได้ ด้วยการล้างหน้าสม่ำเสมอ ใช้กระดาษซับหน้ามันอย่างถูกวิธี เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าระหว่างวัน

    หน้ามัน เกิดจากสาเหตุใด

    หน้ามันเป็นภาวะของผิวหน้าที่พบได้ทั่วไป เกิดจากร่างกายผลิตน้ำมันมากเกินไป ทั้งนี้ สาเหตุของอาการหน้ามัน อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • พันธุกรรม ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีใบหน้ามัน มักมีโอกาสที่จะหน้ามันมากกว่าคนทั่วไป
  • ฮอร์โมน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายจะกระตุ้นให้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น วัยรุ่นส่วนใหญ่จึงมักหน้ามันและเป็นสิว นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในเพศหญิงเมื่อมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หยุดใช้ยาคุมกำเนิด หรือกำลังเข้าสู่วัยทอง อาจทำให้หน้ามันและเพิ่มโอกาสเป็นสิวได้เช่นกัน
  • สภาพอากาศ หน้ามันมักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงที่อากาศร้อนและชื้น เนื่องจากร่างกายจะขับน้ำและไขมันออกมาเพื่อช่วยปรับให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นลงและเพื่อป้องกันผิวแห้ง
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลังมื้ออาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น และตับอ่อนจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ออกมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป และอินซูลินในกระแสเลือดยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต หรือโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ออกมา โดยฮอร์โมนชนิดนี้ เกี่ยวข้องกับการผลิตไขมันของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ทั้งนี้ หากชอบรับประทานอาหารที่มีส่วนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นและทำให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือดมากกว่าปกติอย่างอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน เครื่องดื่มผสมน้ำตาล และธัญพืชขัดสีอย่างข้าวขาว ซีเรียล หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว อาจกระตุ้นให้หน้ามันเพิ่มขึ้น
  • ความอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากมักมีความผิดปกติของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้ผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาหน้ามันและเป็นสิวง่าย งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Dermatology ปี พ.ศ. 2549 นักวิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดสิวกับค่าดัชนีมวลกายของนักเรียนจำนวน 3,274 ราย ได้ข้อสรุปว่า นักเรียนกลุ่มที่ไม่เป็นสิว มีค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่ากลุ่มที่เป็นสิวอย่างมีนัยสำคัญ
  • การดูแลผิวผิดวิธี การล้างหน้าหรือขัดผิวที่รุนแรงและบ่อยเกินไปอาจไปกระตุ้นต่อมไขมันใต้ผิวหนังให้ผลิตน้ำมันมากเกินไปจนทำให้หน้ามัน
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ไม่เหมาะสม ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน แอลกอฮอล์ หรือปิโตรเลียมเจลลี่ อาจก่อให้เกิดการสะสมของน้ำมันบนใบหน้ามากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่หน้ามันมากกว่าปกติควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อบางเบาและควรเป็นสูตรน้ำ ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน (Non-comedogenic) เพื่อป้องกันการสะสมของน้ำมันบนผิว
  • หน้ามันก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง

    เมื่อต่อมไขมันใต้ผิวหน้าผลิตน้ำมันมากเกินไปจนทำให้หน้ามัน อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา ดังนี้

  • ไขมันอุดตันรูขุมขน เพิ่มความเสี่ยงให้หน้าเป็นสิวได้
  • เมื่อแต่งหน้าเครื่องสำอางไม่ติดทนหรือเยิ้มเป็นคราบ
  • ใบหน้าดูมันวาวตลอดเวลา อาจดูเหมือนเหงื่อออกหรือเป็นคราบสกปรกไม่น่ามอง สร้างความไม่มั่นใจ
  • น้ำมันจากใบหน้าติดบนหน้าจออุปกรณ์สื่อสาร
  • หน้ามัน ป้องกันได้อย่าไรบ้าง

    หน้ามัน อาจป้องกันได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ล้างหน้าเป็นประจำทุกวันทั้งเช้า เย็น และหลังออกกำลังกาย เพื่อกำจัดน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า แต่ไม่ควรล้างบ่อยเกินไปเพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้ผิวผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป นอกจากนั้นขณะล้างหน้า ไม่ควรขัดหรือถูใบหน้าอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง และผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการถูกระดาษซับหน้ามันบนใบหน้า เพราะจะทำให้น้ำมันบนใบหน้ากระจายเพิ่มมากขึ้น วิธีใช้กระดาษซับหน้ามันอย่างเหมาะสม คือการวางกระดาษลงบนใบหน้า ซับน้ำมันบนใบหน้าอย่างเบามือ แล้วนำกระดาษออก ไม่ควรใช้กระดาษเช็ดหรือถูใบหน้าไปมาแรง ๆ
    • ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีลิโคชาลโคน เอ (Licochalcone A) เป็นส่วนผสม เพราะลิโคชาลโคน เอ อาจมีคุณสมบัติช่วยลดการผลิตน้ำมันของผิวหนัง และป้องกันสิวได้
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าระหว่างวัน เพราะอาจทำให้ฝุ่น น้ำมัน หรือเชื้อแบคทีเรีย กระจายจากมือไปยังใบหน้าได้ ควรสัมผัสใบหน้าเฉพาะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น เช่น เพื่อทำความสะอาด แต่งหน้า ทาครีมกันแดด
    • เลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ปราศจากน้ำมัน หรือผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า Non-comedogenic เพื่อช่วยลดการอุดตันรูขุมขนที่ทำให้เกิดสิว และทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ปราศจากน้ำหอมเป็นประจำทุกวัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว
    • ควรทาครีมกันแดดชนิดควบคุมความมันที่มี SPF 50 ขึ้นไป เพื่อปกป้องผิวจากรังสียูวีที่เป็นอันตราย ป้องกันริ้วรอย จุดด่างดำและมะเร็งผิวหนัง
    • กินยาลดการทำงานของต่อมไขมัน เช่น ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) โดยต้องให้คุณหมอเป็นผู้ดูแลเท่านั้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา