
โรคเลือด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เป็นความผิดปกติที่ส่งผลต่อจำนวนของเม็ดเลือด รวมทั้งการทำงานของส่วนที่เป็นของแข็งของเลือด
คำจำกัดความ
โรคเลือดคืออะไร
เลือดของคุณประกอบด้วยส่วนประกอบหลักสองประการ คือ ของเหลวและของแข็ง ส่วนที่เป็นของเหลว ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่าพลาสมา (Plasma) มีส่วนประกอบของน้ำ เกลือ และโปรตีน ส่วนที่เป็นของแข็งของเลือดประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
โรคเลือด (Blood disorder) ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง (Hematologic Disorder) เป็นความผิดปกติที่ส่งผลต่อจำนวนของเม็ดเลือด รวมทั้งการทำงานของส่วนที่เป็นของแข็งของเลือด
โรคเลือดบางประการลดจำนวนของเซลล์เม็ดเลือด ซึ่งได้แก่
- โรคโลหิตจาง (Anemia) เซลล์เม็ดเลือดแดงมีจำนวนลดลง
- เม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) เซลล์เม็ดเลือดขาวมีจำนวนลดลง
- เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) เกล็ดเลือดมีจำนวนลดลง
โรคเลือดบางชนิดเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือด ซึ่งได้แก่
- ภาวะเลือดข้น (Erythrocytosis) เซลล์เม็ดเลือดแดงมีจำนวนมากขึ้น
- ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง (Leukocytosis)เซลล์เม็ดเลือดขาวมีจำนวนมากขึ้น
- ภาวะเกล็ดเลือดมาก หรือเกล็ดเลือดสูง (Thrombocythemia) เกล็ดเลือดมีจำนวนมากขึ้น
โรคเลือดอื่น ๆ อาจส่งผลต่อโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดหรือพลาสมา ทำให้เกิดการลดลงในระบบการแข็งตัวของเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน
พบได้บ่อยเพียงใด
โรคเลือดค่อนข้างพบได้ทั่วไป โรคนี้สามารถส่งผลต่อผู้ป่วยได้ในทุกช่วงอายุและเพศ สามารถจัดการได้โดยลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของโรคเลือดเป็นอย่างไร
อาการที่เกิดจากเลือดผิดปกติ ได้แก่
- อ่อนเพลีย หมดแรง หรือหายใจลำบาก
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- หน้าแดง
- เลือดข้นมากขึ้น
- เลือดแข็งตัวมากเกินไป
- เวียนศีรษะ
- ตัวซีด
- มีจุดเลือดที่ผิวหนัง (Petechiae)
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- หัวใจเต้นเร็ว
- การติดเชื้อเรื้อรัง
- มีแผลหรืออาการปวดที่รักษาไม่หายหรือหายช้า
- เลือดออกไม่หยุดหลังจากเป็นแผลหรือได้รับบาดเจ็บ
- ผิวหนังเป็นแผลได้ง่าย
โดยทั่วไปแล้ว โรคเลือดสามารถทำให้เกิดเลือดออกมากได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
- เลือดกำเดาไหล
- หัตถการทางทันตกรรม
- เลือดประจำเดือน
- การคลอดบุตร
- อาการฟันหลุดในเด็ก
อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่างๆ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใดๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุด ตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของโรคเลือด
โรคเลือดมีสาเหตุบางประการ ได้แก่
กรรมพันธุ์
โรคเลือดสามารถถ่ายทอดได้ในครอบครัว หมายความว่าหากพ่อแม่หรือพี่น้องของคุณเป็นโรคเลือด คุณมีโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ได้
ผลของโรค
ตัวอย่างเช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงข้น (Polycythemia vera) ซึ่งเป็นภาวะทางพันธุกรรมประเภทหนึ่ง สามารถทำให้ร่างกายของคุณสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงในปริมาณมากเกินไปได้ หรือหากคุณเป็นโรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) เช่น โรคลูปัส (Lupus) ระบบภูมิคุ้มกันของคุณอาจทำลายเกล็ดเลือดของคุณเอง ซึ่งทำให้เลือดไม่หยุดไหล เมื่อเป็นแผลหรือได้รับบาดเจ็บ
การติดเชื้อ
การติดเชื้อบางชนิดสามารถลดจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวในเลือดได้ การติดเชื้ออื่นๆ ยังอาจเพิ่มการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวได้อีกด้วย
การขาดสารอาหาร
ความผิดปกติเกี่ยวกับการดูดซึมธาตุเหล็ก สามารถทำให้เกิดโรคเลือดได้ เนื่องจากร่างกายของคุณ ไม่สามารถสังเคราะห์เซลล์เม็ดเลือดแดงได้อย่างเพียงพอ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของโรคเลือด
มีเหตุผลบางประการที่ทำให้คุณมีความเสี่ยงของการเป็นโรคเลือดเพิ่มมากขึ้น เช่น
- การกินอาหารไม่เหมาะสม (อาหารไม่ดีหรืออาหารที่มีไขมันมาก)
- โรคอ้วน
- การสูบบุหรี่
- การติดเชื้อที่รุนแรง
- ลำไส้ผิดปกติ โรคเรื้อรัง
- ประจำเดือนหรือการตั้งครรภ์
- อายุที่มากขึ้น
- มีการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก
- ขาดการออกกำลังกาย
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคเลือดทำอย่างไร
เพื่อตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด แพทย์สามารถแนะนำการทดสอบดังต่อไปนี้
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)
เป็นการทดสอบที่พบได้มากที่สุด สำหรับการตรวจหาความผิดปกติของเลือด การตรวจ CBC เป็นการประเมินส่วนประกอบเกี่ยวกับเซลล์ทั้งหมด (เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด) ในเลือด
เครื่องมืออัตโนมัติสามารถทำการทดสอบนี้ได้ภายในเวลาน้อยกว่า 1 นาที โดยใช้ตัวอย่างเลือดในปริมาณเล็กน้อย การตรวจ CBC จะมีการตรวจเสริมในบางกรณี ด้วยการตรวจเซลล์เม็ดเลือดโดยกล้องจุลทรรศน์
- อัตราการสร้างเม็ดเลือดแดง (Reticulocyte count)
เป็นการวัดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สร้างขึ้นใหม่ (reticulocytes) ในปริมาณเลือดเฉพาะ จำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สร้างขึ้นใหม่ มักคิดเป็นร้อยละ 1 ของจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงทั้งหมด
หากร่างกายต้องการเซลล์เม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้น เช่น เมื่อมีภาวะโลหิตจาง (Anemia) ไขกระดูกมักมีการตอบสนอง โดยการสังเคราะห์เซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้นใหม่ ดังนั้น อัตราเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สร้างขึ้นใหม่ จึงเป็นการวัดประสิทธิภาพของไขกระดูกในการสังเคราะห์เซลล์เม็ดเลือดแดงที่สร้างขึ้นใหม่
- การทดสอบเซลล์เม็ดเลือดพิเศษ
แพทย์สามารถวัดสัดส่วนของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่แตกต่างกัน และความสามารถของเซลล์เม็ดเลือดขาว ในการต้านการติดเชื้อ การทดสอบเหล่านี้ส่วนใหญ่ดำเนินการกับตัวอย่างเลือด แต่การทดสอบบางประการต้องใช้ตัวอย่างจากไขกระดูก
- การทดสอบการแข็งตัวของเลือด
ประกอบด้วยการทดสอบหลายประเภท การทดสอบบางประเภทเป็นการหาจำนวนเกล็ดเลือดในเลือด เกล็ดเลือดทำหน้าที่ควบคุมการไหลของเลือด ในบางครั้งแพทย์จำเป็นต้องทดสอบว่าเกล็ดเลือดทำหน้าที่ได้ดีเพียงใด การทดสอบอื่น ๆ สามารถวัดการทำงานโดยรวมของโปรตีนชนิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อการแข็งตัวของเลือด
- การวัดค่าโปรตีนและสารต่าง ๆ
การทดสอบเหล่านี้ดำเนินการโดยใช้ตัวอย่างปัสสาวะ ปัสสาวะมีส่วนประกอบของโปรตีนในปริมาณน้อยมาก จากการตรวจวัดค่าโปรตีนเหล่านี้ แพทย์สามารถตรวจหาความผิดปกติในปริมาณหรือโครงสร้างของโปรตีนได้
การรักษาและการจัดการ
การรักษาโรคเลือด
โดยปกติแล้ว แพทย์แนะนำการรักษาร่วมกันเพื่อช่วยรักษาภาวะเลือดผิดปกติ หากอาการของคุณไม่รุนแรง คุณอาจได้รับยา
ในกรณีที่การใช้ยาไม่ได้ผล คุณจำเป็นต้องเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplants) ซึ่งอาจซ่อมแซมและแทนที่ไขกระดูก นอกจากนี้ การถ่ายเลือด (Blood transfusion) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อช่วยแทนที่เซลล์เม็ดเลือดที่สูญเสียหรือเสียหายไป ในระหว่างการถ่ายเลือด คุณจะได้รับการให้เลือดดีผ่านทางหลอดเลือดจากผู้บริจาคเลือด
การจัดการกับโรคเลือด
คุณสามารถจัดการกับโรคเลือดได้หลายวิธี หากคุณมีอาการใด ๆ ปรากฏขึ้น คุณควรไปพบหมอ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว ซึ่งทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
อาหารและการออกกำลังกายที่เพียงพอ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเลือดผิดปกติได้ หากโรคเลือดเกิดกับพ่อแม่ของคุณ คุณจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความเสี่ยงของคุณ
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้น ถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด