backup og meta

ป้องกันลูกน้อยจากยุง ตัวร้ายแสนกวนใจ มีวิธีไหนบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 07/06/2022

    ป้องกันลูกน้อยจากยุง ตัวร้ายแสนกวนใจ มีวิธีไหนบ้าง

    ป้องกันลูกน้อยจากยุง อาจทำได้หลายวิธี เช่น การแต่งตัวเพื่อลดพื้นผิวที่จะทำให้ถูกยุงกัด การใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เนื่องจาก ยุงป็นสัตว์ที่อาจส่งต่อเชื้อโรคที่เป็นอันตรายจากคนไปสู่คนได้ นอกจากนี้ เด็กบางคนเมื่อโดนยุงกัดอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้อีกด้วย ดังนั้น การเลือกวิธีป้องกันลูกน้อยจากยุงจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันลูกจากการติดเชื้อต่าง ๆ

    ป้องกันลูกน้อยจากยุง ทำได้อย่างไรบ้าง

    การโดนยุงกัดอาจเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย โดยยุงที่กัดคนมักเป็นยุงเพศเมีย เพราะยุงเพศเมียต้องกินเลือดเพื่อใช้เป็นอาหารให้กับไข่ โดยส่วนใหญ่แล้ว เด็กอาจมีแนวโน้มถูกยุงกัดมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งการโดนยุงกัดมักจะไม่เป็นอันตราย น้ำลายของยุงอาจทำให้เกิดอาการคันเล็ก ๆ น้อย ๆ และอาจหายไปเองหลังจากผ่านไป 2-3 ชั่วโมง แต่บางครั้งการโดนยุงกัดอาจทำให้เกิดอาการแพ้ หรือเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคจากยุงสู่คนได้ ดังนั้น วิธีการ ป้องกันลูกน้อยจากยุง อาจทำได้ดังนี้

    การแต่งตัว

    การแต่งตัวเพื่อลดพื้นผิวที่ถูกเปิดเผย อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันลูกน้อยจากยุงได้ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเลือกเสื้อผ้าที่น้ำหนักเบา อากาศผ่านได้ดี เพื่อปกคลุมร่างกายลูก สำหรับทารกที่อายุน้อยอาจหลีกเลี่ยงเสื้อผ้ารัดรูป กางเกงขาสั้น กระโปรง หรือเดรส ควรแต่งตัวด้วยชุดบอดี้สูทที่ครอบคลุมร่างกายให้มากที่สุด

    สำหรับเด็กโตควรเลือกกางเกงขายาว เสื้อเชิ้ตแขนยาว น้ำหนักเบา สวมถุงเท้าและรองเท้าแบบปิดเท้า สวมหมวกปีกกว้างเพื่อป้องกันใบหน้าจากแมลงต่าง ๆ สีของเสื้อผ้าก็อาจมีส่วนสำคัญ จึงควรเลือกเสื้อผ้าที่สีอ่อน ๆ หรือสีสดใสเพื่อจะได้ไม่ดึงดูดยุงและแมลง

    เลือกยากันยุงที่เหมาะสม

    ยากันยุงส่วนใหญ่อาจป้องกันยุงได้ประมาณ 2-5 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารเคมีที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรทายากันยุงให้กับทารกที่อายุน้อยกว่า 2 เดือน สำหรับเด็กทารกที่มีอายุเกิน 2 เดือนแล้ว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เลือกความเข้มข้นของสารเคมีที่ต่ำที่สุด

    ติดมุ้งเพื่อกันยุง

    มุ้งกันยุงอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันลูกน้อยจากยุงและไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ หากคุณพ่อคุณแม่นอนกับลูกอาจใช้มุ้งขนาดใหญ่มาคลุมเตียง แต่อาจต้องตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มียุงติดอยู่ใต้มุ้ง ถ้าลูกในเปลอาจใช้มุ้งคลุมเปลเอาไว้ แต่มันอาจช่วยป้องกันยุงไม่ดีสักเท่าไหร่ หากต้องพาลูกออกมาจากเปล เพื่อป้อนนมหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ

    การติดมุ้งลวดกันยุงที่ประตูและหน้าต่างก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะอาจช่วยป้องกันยุงและแมลงไม่ให้เข้ามาในบ้าน ทั้งยังช่วยให้สามารถได้รับประโยชน์จากอากาศบริสุทธิ์ได้ทั้งวัน นอกจากนี้ ควรพยายามปิดช่องว่างบริเวณประตูและหน้าต่างให้หมด เพื่อไม่ให้ยุงและแมลงเล็ดลอดเข้ามาในบ้านจากบริเวณช่องว่างที่เกิดขึ้นได้

    ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นสำหรับไล่ยุง

    ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายอยางที่มีกลิ่นหอมและอาจช่วยไล่ยุงได้ ไม่ว่าจะเป็นธูป เทียนหอม รวมไปถึงน้ำมันหอมระเหย ซึ่งกลิ่นบางอย่าง เช่น ตะไคร้หอม สะเดา ลาเวนเดอร์ ยูคาลิปตัส อาจช่วยไล่ยุงได้ อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นของดอกไม้และผลไม้ ก็อาจมีแนวโน้มที่จะดึงดูดยุงและแมลงต่าง ๆ ได้เช่นกัน

    กำจัดพื้นที่ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

    การกำจัดสถานที่ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรใส่ใจ โดยยุงมักจะผสมพันธุ์ในน้ำนิ่งและสามารถวางไข่ได้ในน้ำปริมาณที่น้อย ดังนั้น ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีถังเก็บน้ำหรือไม่ ถ้ามีก็ควรเทน้ำที่ค้างในถังทิ้ง หรือหาอะไรมาปิดถังเก็บน้ำให้มิดชิด

    ไข่ยุงอาจใช้เวลาในการฟักประมาณ 7-10 วัน จึงควรพยายามเปลี่ยนน้ำในภาชนะบ่อย ๆ ทำความสะอาดภาชนะบรรจุน้ำสัปดาห์ละครั้ง เติมน้ำมันก๊าซ 2-3 หยดลงไปในท่อระบายน้ำ บ่อน้ำขนาดเล็ก และสถานที่ที่มีน้ำนิ่งขัง เพราะน้ำมันจะก่อตัวเป็นฟิล์มบาง ๆ เหนือน้ำ ซึ่งอาจหยุดการผสมพันธุ์ของยุงได้ นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่จะมีการฉีดพ่นควันเพื่อกำจัดยุงอีกด้วย

    ลูกโดนยุงกัด คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร

    หากลูกโดนยุงกัด คุณพ่อคุณแม่อาจต้องพยายามระวังไม่ให้ลูกเกาบริเวณที่โดนยุงกัด เพราะการเกาอาจทำให้ผิวหนังเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ ดังนั้น เพื่อบรรเทาอาการคันและลดโอกาสการติดเชื้อ อาจทำดังนี้

    • ล้างบริเวณที่โดนยุงกัดด้วยสบู่และน้ำสะอาด
    • ใช้โลชั่น คาลาไมน์ หรือครีมป้องกันอาการคันทาบริเวณที่โดนยุงกัด
    • เอาก้อนน้ำแข็งมาถูบริเวณที่โดนยุงกัด
    • รับประทานยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เพื่อบรรเทาอาการคัน

    อย่างไรก็ตาม ถ้าโดนยุงกัดแล้วลูกมีอาการแพ้รุนแรง รวมไปถึงอาเจียนหรือหายใจถี่ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 07/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา