backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

เด็กออทิสติก สัญญาณเตือน และวิธีดูแล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 21/03/2022

เด็กออทิสติก สัญญาณเตือน และวิธีดูแล

เด็กออทิสติก เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของพัฒนาการ ซึ่งอาจอาจเกิดปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัส การคลอดก่อนกำหนด ซึ่งสามารถสังเกตสัญญาณเตือนได้จากลักษณะการพูด การตอบสนองช้า ชอบเล่นคนเดียว บางคนอาจก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคออทิสติกและขอคำปรึกษาจากคุณหมอ เพื่อรับคำแนะนำวิธีดูแลลูกอย่างถูกต้อง

โรคออทิสติก คืออะไร

โรคออทิสติก คือ โรคเกี่ยวกับความผิดปกติของพัฒนาการเด็ก เช่น พัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร การเข้าสังคม ที่อาจมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน อาจมีพฤติกรรมทำบางสิ่งบางอย่างซ้ำ ๆ เป็นกิจวัตร และอาจมีปัญหาในการทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของคนรอบข้าง แต่ยังคงมีความรู้สึกรัก ชอบ หรือไม่ชอบตามปกติ มักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

สาเหตุที่ทำให้เป็นเด็กออทิสติก

สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นออทิสติกยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าอาจมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • พันธุกรรม โรคออทิสติกอาจมีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการเรตต์ (Rett syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบประสาทที่ส่งผลให้มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว การพูดสื่อสาร และกลุ่มอาการโครโมโซมเอ็กซ์เปราะบาง (Fragile X syndrome) ส่งผลให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญา พัฒนาการการพูด การเรียนรู้ล่าช้า นำไปสู่การเพิ่มความเสี่ยงทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคออทิสติก
  • การไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด การฉีดวัคซีนควรเริ่มตั้งแต่เด็กวัยแรกเกิด เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นออทิสติกจากการติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลให้พัฒนาการทางสมองและพฤติกรรมผิดปกติ ซึ่งวัคซีนสำหรับเด็ก ได้แก่ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี โรคคอตีบ บาดทะยัก ไข้หวัดใหญ่ คางทูม หัดเยอรมัน ไอกรน โปลิโอ โรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อเอชพีวี (HPV) โรคฮิบ (Haemophilus influenzaetype B) ไวรัสโรตา (Rotavirus)
  • การได้รับยาตั้งแต่ในครรภ์ ยาบางชนิดเช่น ยากันชัก valproic acid และ ยากดภูมิคุ้มกัน thalidomide ถ้าคุณแม่ได้รับขณะตั้งครรภ์ก็เพิ่มความเสี่ยงให้ลูกต่อการเป็นออทิสติก
  • สภาพแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ สารเคมี สารพิษ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคออทิสติกได้ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมถึงจะทราบแน่ชัดว่าปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการเกิดโรคออทิสติกได้อย่างไร

สัญญาณเตือนของโรคออทิสติกในเด็ก

หากลูกไม่มีการตอบสนองด้วยการยิ้มภายใน 6 เดือน การแสดงสีหน้าหรือการส่งเสียงภายใน 9 เดือน โบกมือ หรือชี้บอกความต้องการภายใน 14 เดือน ควรเข้าพบคุณหมอในทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของพัฒนาการล่าช้า มีแนวโน้มเสี่ยงเป็นเด็กออทิสติก

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตสัญญาณเตือนของโรคออทิสติกได้จากอาการและพฤติกรรม ดังต่อไปนี้

ด้านการสื่อสาร

  • ไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่คนรอบข้างพูด
  • ไม่ชอบให้สัมผัสโดนร่างกาย
  • ชอบเล่นคนเดียว อยู่ในโลกส่วนตัวของตัวเอง
  • ไม่แสดงสีหน้า และหลีกเลี่ยงการสบสายตากับผู้พูด
  • พูดคำซ้ำ ๆ พูดด้วยน้ำเสียงผิดปกติ คล้ายกับหุ่นยนต์
  • สื่อสารกับผู้อื่นไม่เข้าใจ

ด้านพฤติกรรม

  • ชอบก่อกวน ซุกซน บางคนอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว
  • มีการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ เช่น กระโดด หมุนตัว สะบัดมือ
  • อาจทำร้ายตัวเองและผู้อื่นในบางครั้ง เช่น กัด ตบหัว ตบหน้า
  • มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ เดินไม่ถนัด
  • ใช้ภาษากายสื่อสารแปลก ๆ ไม่เลียนแบบพฤติกรรมที่เห็น เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ เช่น การโบกมือลา สวัสดี 
  • หงุดหงิดง่าย โดยเฉพาะเวลาเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ หรือเมื่อกิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ

วิธีดูแลเด็กออทิสติก

วิธีดูแลเด็กออทิสติก อาจสามารถทำได้ดังนี้

สร้างพลังบวกให้ลูก

สร้างพลังบวกให้แก่ลูกด้วยการชมเชยเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดี หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น และอาจให้รางวัลเล็กน้อย เช่น แปะสติกเกอร์ ปั๊มดาว

ให้ลูกทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ

ให้ลูกทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เพื่อให้ลูกอารมณ์ดี รวมถึงทำกิจกรรมร่วมกับลูก เพื่อให้ลูกเปิดใจให้กับคนในครอบครัวมากขึ้น

สอนให้ลูกใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ

พาลูกไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ เช่น พาไปเลือกซื้อของ พาไปเดินเล่น เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม และอาจช่วยลดความกลัวหรือความหวาดระแวงลง

ให้ลูกเข้ารับการบำบัด

ให้ลูกเข้ารับการบำบัดโดยคุณหมอ เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสาร พฤติกรรม จิตใจ อารมณ์ ด้วยเทคนิคต่าง ๆได้แก่

  • ฝึกการพูด (Speech Therapy) เพื่อกระตุ้นให้ลูกมีการสื่อสารมากขึ้น เช่น เอาของเล่นไปซ่อนเพื่อให้ลูกถามหา พูดคุยโต้ตอบกับลูก โดยคุณหมออาจจำเป็นต้องขอความร่วมมือผู้ปกครองให้ช่วยฝึกลูกขณะอยู่ที่บ้านด้วย
  • กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) เป็นการฝึกทักษะการคิดและช่วยเพิ่มพัฒนากล้ามเนื้อของลูกให้มีการทำงานได้ดีมากขึ้น เพื่อช่วยให้ลูกสามารถเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว โดยวิธีปฏิบัติอาจแตกต่างกัน คุณหมออาจพิจารณาจากปัญหาในเด็กแต่ละบุคคล
  • ฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม (Social Rehabilitation) เป็นการฝึกฝนทักษะที่ใช้ในชีวิตประวัน โดยอาจจำลองเหตุการณ์ในสังคม เพื่อให้เด็กเข้าใจแต่ละสถานการณ์มากขึ้น และได้มีโอกาสโต้ตอบกับบุคคลอื่น ๆ การบำบัดนี้อาจช่วยให้ลูกดูแลตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่
  • ฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ (Vocational Rehabilitation) เป็นการฝึกทักษะต่าง ๆ ที่เด็กโตจำเป็นต้องใช้เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน เช่น การตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบในหน้าที่ การปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน เพื่อการประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 21/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา