backup og meta

จุกนมหลอก ป้องกันภูมิแพ้ ได้จริงเหรอ

จุกนมหลอก ป้องกันภูมิแพ้ ได้จริงเหรอ

จุกนมหลอก หมายถึง จุกนมที่ทำจากยางหรือซิลิโคนที่ปลอดภัยสำหรับการนำเข้าปาก มีไว้ให้เด็กดูดแทนการดูดนมหรือจุกขวดนม ช่วยให้เด็กรู้สึกสงบและนอนหลับง่ายขึ้น หลายคนสงสัยว่า จุกนมหลอก ป้องกันภูมิแพ้ ได้จริงหรือไม่ แล้วเกี่ยวข้องกันอย่างไร คุณพ่อคุณแม่อาจศึกษาถึงประโยชน์ของจุกนมหลอกเพื่อนำไปใช้ในการเลี้ยงลูก

[embed-health-tool-vaccination-tool]

จุกนมหลอก ป้องกันภูมิแพ้ ได้จริงเหรอ

ผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่นำเสนอในงานประชุมวิทยาศาสตร์ประจำปีของ American College of Allergy, Asthma and Immunology (ACAAI) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2018 ระบุว่า การดูดจุกนมหลอกให้ลูกนั้นเชื่อมโยงกับอัตราการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ในเด็กที่ลดลง

ทีมนักวิจัยได้สัมภาษณ์คุณแม่ลูกอ่อนจำนวน 128 ราย เป็นเวลาหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 18 เดือน โดยหนึ่งในคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์ก็คือ “คุณแม่มีวิธีทำความสะอาดจุกนมหลอกของลูกอย่างไร” ผลออกมาว่า ส่วนใหญ่ใช้วิธีล้างทำความสะอาดจุกนมหลอก รองลงมาคือใช้การอบฆ่าเชื้อ และแม่ส่วนหนึ่งก็ใช้วิธีทำความสะอาดจุกนมหลอกให้ลูกด้วยการดูด

จากการรวบรวมข้อมูล ทีมวิจัยพบว่า เด็กที่แม่ทำความสะอาดจุกนมหลอกให้ด้วยการดูดจุกนมหลอกของลูก มีระดับอิมมูโนโกลบูลิน อี (IgE) ต่ำกว่าเด็กที่แม่ทำความสะอาดจุกนมหลอกให้ด้วยวิธีอื่น ซึ่งอิมมูโนโกลบูลิน อี เป็นสารภูมิต้านทาน หรือแอนติบอดี (Antibody) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อทำลายสารก่อภูมิแพ้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาได้ เช่น ฮีสตามีน และเมื่อร่างกายมีฮีสตามีนมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองตามอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง คอ จมูก ปอด หรือที่เรียกว่า อาการแพ้ นั่นเอง ยิ่งร่างกายมีระดับระดับอิมมูโนโกลบูลิน อี สูงเท่าไหร่ ความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้และหอบหืดจากภูมิแพ้ก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น

ระดับอิมมูโนโกลบูลิน อี ในเด็กที่แม่ดูดจุกนมหลอกให้นั้น เริ่มลดลงในช่วงประมาณเดือนที่ 10 ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนที่ 18 โดยทีมนักวิจัยเชื่อว่า ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะเมื่อแม่ดูดจุกนมหลอก จุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกายในน้ำลายของแม่เลยไปติดอยู่บนจุกนมหลอก เมื่อลูกดูดจุกนมหลอกจึงได้รับจุลินทรีย์เหล่านั้นไปด้วย การที่เด็กได้รับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายตั้งแต่ยังเล็กมาก จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ในภายหลังได้ด้วย

อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยเผยว่า ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้กันต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำขึ้น และผลการวิจัยในปัจจุบันก็ยังระบุแน่ชัดไม่ได้ว่า เมื่อเด็กโตขึ้น ร่างกายจะยังคงมีระดับอิมมูโนโกลบูลิน อีต่ำอยู่เหมือนเดิมหรือไม่

น้ำนมแม่ อีกหนึ่งตัวช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

แม้จุกนมหลอกอาจช่วยลดความเสี่ยงภูมิแพ้ได้ แต่จุกนมหลอกก็อาจไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ เด็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มักมีอาการหูอักเสบ และการให้ลูกดูดจุกนมหลอกแบบผิดวิธี ก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้ เช่น ฟันเก ขาดสารอาหาร

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกดูดจุกนมหลอก ก็ยังสามารถลดความเสี่ยงภูมิแพ้ให้ลูกได้ด้วยอีกหนึ่งวิธีที่ง่ายดายกว่า นั่นก็คือ การให้ลูกกินนมแม่ เพราะน้ำนมแม่สามารถช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของทารกแรกเกิดได้เป็นอย่างดี และไม่ใช่แค่ช่วยลดความเสี่ยงภูมิแพ้ หรือโรคอื่นๆ แต่น้ำนมแม่ยังเป็นแหล่งสารอาหารชั้นเลิศของทารกด้วย คุณแม่จึงควรให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน หรือหากให้ลูกกินนมแม่ร่วมกับอาหารอื่น ๆ ที่เหมาะสมได้จนถึง 2 ขวบก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Sucking your baby’s pacifier to clean it may prevent allergies. https://www.sciencedaily.com/releases/2018/11/181116083202.htm. Accessed December 29, 2022.

Pacifiers: Are they good for your baby?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/pacifiers/art-20048140. Accessed December 29, 2022.

Can You Prevent Allergies by Sucking on Your Baby’s Pacifier to Clean It?. https://community.aafa.org/blog/can-you-prevent-allergies-by-sucking-on-your-baby-s-pacifier-to-clean-it. Accessed December 29, 2022.

Parents’ Saliva On Pacifiers Could Ward Off Baby’s Allergies. https://www.npr.org/sections/health-shots/2013/05/06/180817114/parents-saliva-on-pacifiers-could-ward-off-babys-allergies. Accessed December 29, 2022.

Thumb-Sucking, Nail-Biting, and Atopic Sensitization, Asthma, and Hay Fever. https://pediatrics.aappublications.org/content/138/2/e20160443. Accessed December 29, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/12/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลูกกัดหัวนม ขณะกินนมแม่ เกิดจากสาเหตุใด แก้ไขยังไงได้บ้าง

เชื้อราในปากจากการให้นมแม่ ส่งผลกระทบอย่าไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา