เมื่อเกิดอาการแพ้ หลาย ๆ คนมักจะมีอาการ คัดจมูก จาม คันตามผิวหนัง การรับประทานยาแก้แพ้ เป็นวิธีรักษาอาการภูมิแพ้ได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่แล้ว ยาแก้แพ้สามารถแบ่งออกเป็นได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ วันนี้ Hello คุณหมอ จะชวนทุกคนไปรู้จักกับ ประเภทยาแก้แพ้ ว่ามีอะไรบ้าง
ประเภทยาแก้แพ้ มีอะไรบ้าง
อาการแพ้ เกิดจากร่างกายได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเกิดจากสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายหรือสัมผัสกับผิวหนัง ระบบภูมิคุ้มกันจะทำการปล่อยฮีสตามีน (Histamines) ซึ่งฮีสตามีนเป็นสารที่มีอยู่ในเซลล์ทั่วร่างกาย ทั้งระบบประสาท ทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อฮีสตามีนจับกับตัวรับที่อยู่ในเซลล์ จะทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น การขยายหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว เกิดผื่นแดงที่ผิวหนัง หายใจลำบาก การรับประทานยาแก้แพ้ จะช่วยบล็อกตัวรับฮีสตามีน จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการแพ้ได้ ยาแก้แพ้สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
ยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วง (Conventional Antihistamines)
ยาแก้แพ้ประเภทที่ทำให้รู้สึกง่วง หรือ ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มดั้งเดิม (Conventional Antihistamines) เป็นยาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก โดยยาประเภทนี้ใช้รักษาอาการเยื่อจมูกอักเสบที่มีสาเหตุมาจากภูมิแพ้ ที่มีอาการคัน จาม น้ำมูกไหล นอกจากนี้ยังสามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการน้ำมูกไหล อาการเมารถ เมาเรือ ได้ด้วย บางครั้งอาจใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ การทำงานของยาในกลุ่มนี้ จะผ่านเข้าสู่สมอง ไปกดระบบประสาท เมื่อรับประทานยาแก้แพ้ประเภทนี้จึงทำให้รู้สึกง่วง
ยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้รู้สึกง่วง (Non-Sedating Antihistamines)
ยาแก้แพ้ประเภทที่ไม่ทำให้รู้สึกง่วงนั้น ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้รู้สึกง่วง คือใช้สำหรับรักษาอาการเยื่อจมูกอักเสบ แต่ยาแก้แพ้ในกลุ่มนี้สามารถผ่านเข้าสมองได้น้อยมาก ทำให้รู้ง่วงและซึมน้อยกว่าแบบแรก
ผลข้างเคียงที่ควรระวังเมื่อใช้ ยาแก้แพ้
เมื่อต้องใช้ยาแก้แพ้ ควรตรวจสอบฉลากยาก่อนใช้เสมอ เพื่อดูขนาดและวิธีการใช้ยา เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาเกินขนาด สำหรับผู้ที่รับประทายาแก้แพ้แบบกดประสาทเกินขนาด อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติและเกิดอาการชัก โดยปกติแล้วยาแก้แพ้มักจะไม่เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่อาจมีผลข้างเคียงเหล่านี้ เหนื่อยล้า เวียนหัว ปวดหัว ท้องผูก สำหรับผู้ที่มีผลข้างเคียงรุนแรงจะมีอาการ ดังนี้
- ลมพิษ
- ผื่นผิวหนัง
- หายใจลำบาก
- ใบหน้า ลำคอบวม
สำหรับผู้ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษแพทย์ก่อนการรับประทานยาแก้แพ้ เพื่อที่แพทย์จะได้แนะนำปริมาณที่ควรใช้ให้มีความเหมาะสม ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อมีการใช้ยาแก้แพ้ เพราะแอลกอฮอล์อาจทำให้ผลข้างเคียงของการใช้ยาแก้แพ้แย่ลงได้
[embed-health-tool-bmi]