backup og meta

วิธีเพิ่ม ความฉลาดทางสังคม (SI) เพราะการใช้ชีวิตในสังคม แค่สติปัญญาคงไม่พอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 06/10/2020

    วิธีเพิ่ม ความฉลาดทางสังคม (SI) เพราะการใช้ชีวิตในสังคม แค่สติปัญญาคงไม่พอ

    คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมบางคนที่ฉลาด เรียนเก่ง ตอบคำถามได้หมดทุกข้อ แต่เวลาพูดคุยด้วยกลับไม่สนุก ไม่น่าเข้าหา ไม่น่าเชื่อถือ ในขณะที่บางคนอาจจะมีเรียนได้คะแนนน้อยกว่า แต่กลับน่าเชื่อถือ เข้าอกเข้าใจ รู้จักการวางตัวที่เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่าคนที่เรียนเก่ง คนแบบนี้ จัดได้ว่าเป็นผู้ที่มี ความฉลาดทางสังคม ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดว่า เราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขหรือไม่ แต่การมีความฉลาดทางสังคมเช่นนี้จะสำคัญอย่างไร ร่วมหาคำตอบได้จากบทความนี้กับ Hello คุณหมอกันค่ะ

    ความฉลาดทางสังคม คืออะไร

    ความฉลาดทางสังคม (Social intelligence หรือ SI) นั้นแตกต่างจากความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากความฉลาดทางสติปัญญานั้น เป็นสิ่งที่มาตั้งแต่กำเนิด และมีพันธุกรรมเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดค่าความฉลาดทางสติปัญญานั้น ในขณะที่ความฉลาดทางสังคม มักจะเกิดขึ้นจากการสังเกตประสบการณ์และการเรียนรู้จากความสำเร็จและความล้มเหลวผ่านการใช้ชีวิตในสังคม โดยปกติแล้ว มักจะเรียกกันว่า “สามัญสำนึก’ (Common sense)

    ผู้ที่มีความฉลาดทางสังคม จะสามารถรับรู้ได้ว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร รู้ว่าควรจะพูดอะไรในสถานการณ์แบบไหน และดูมั่นใจในตัวเอง แม้ว่าจะอยู่ในคนกลุ่มใหญ่ หลายคนอาจจะมองว่าทักษะนี้เป็นทักษะการเข้าสังคม แต่จริงๆ แล้วพวกเขาแค่มีความฉลาดทางสังคมสูงเท่านั้น

    องค์ประกอบสำคัญของความฉลาดทางสังคม

    • ความคล่องแคล่วในการพูดคุยสนทนา

    คุณสามารถสังเกตเห็นคนที่มีความฉลาดทางสังคมสูงได้ง่าย ในงานเลี้ยงหรืองานรวมตัว เนื่องจากพวกเขาเก่งที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้ที่มีความฉลาดทางสังคม มักจะสามารถต่อบทสนทนาในหัวข้อที่หลากหลาย และคุยได้กับคนหลายคน เรียกได้ว่าเป็น ทักษะการแสดงออกทางสังคม

    • ความรู้เกี่ยวกับบทบาททางสังคม

    กฎระเบียบทางสังคม และพฤติกรรมทางสังคม ผู้ที่มีความฉลาดทางสังคมจะสามารถเรียนรู้การวางตัวให้สมกับบทบาทต่างๆ ทางสังคม และพวกยังยังมีความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบที่ไม่เป็นทางการ หรือที่เรียกว่า “บรรทัดฐานทางสังคม’ ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น พูดง่ายๆ ว่า พวกเขารู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไรเวลาเข้าสังคม จึงทำให้พวกเขาดูเป็นผู้ที่มีความซับซ้อนและความฉลาดทางสังคมเป็นอย่างมาก

    • เป็นผู้ฟังที่ดี

    ผู้ที่มีความฉลาดทางสังคมมักจะเป็นผู้ฟังที่ดี พวกเขาจะให้ความสนใจกับสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูด ทำให้ผู้พูดรู้สึกว่ามีคนให้ความสนใจ และรู้สึกเชื่อมต่อกับผู้ฟังมากขึ้น

    • เข้าใจผู้อื่น

    ผู้ที่มีความฉลาดทางสังคมสูง จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ผู้อื่นกำลังพูด และสิ่งที่พวกเขากระทำได้เป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถ “อ่าน’ สิ่งที่ผู้อื่นคิดหรือรู้สึกได้ ความสามารถในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความฉลาดทางอารมณ์และความฉลาดทางสังคม

  • ทักษะในการควบคุมการแสดงออก
  • ผู้ที่มีความฉลาดทางสังคม มักจะห่วงเรื่องว่าผู้อื่นจะมองตัวเองอย่างไร และมีความสามารถในการควบคุมภาพลักษณ์ที่แสดงออกให้ผู้อื่นเห็น ให้สมดุลกับนิสัยที่แท้จริงที่แสดงออกไปได้อย่างแนบเนียน

    ความฉลาดทางสังคมสำคัญอย่างไร

    การเป็นคนที่มีความฉลาดทางสังคม ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเรียนเก่งที่สุดในชั้น หรือเข้ามหาลัยที่ดีที่สุดได้ แต่หมายความว่าคุณมีความสามารถในการเข้าอกเข้าใจ และโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างดีเยี่ยม

    การใช้ชีวิตในสังคม และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ล้วนแล้วแต่ก็ต้องการความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นทั้งสิ้น และการเข้าหาหรืออยู่ร่วมกับผู้อื่นนั้นก็มีความซับซ้อน เนื่องจากคนแต่ละคนก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ซ้ำยังสามารถเปลี่ยนแปลงอยู่ได้ตลอดเวลา

    ดังนั้น การที่เราจะประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะในเรื่องของความสัมพันธ์ การทำงาน หรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น จะต้องใช้ทักษะความสามารถในการสื่อสารและทำความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจะต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะพูด เมื่อไหร่ควรจะฟัง และเราจะสามารถตอบสนองกับผู้อื่นได้อย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งทักษะเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ก็ต้องการความฉลาดทางสังคมทั้งนั้น

    วิธีการเพิ่มความฉลาดทางสังคม

    ความฉลาดทางสังคมนั้นแตกต่างจากความฉลาดทางสติปัญญา เนื่องจากเป็นสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ การสังเกต และการฝึกฝน ดังนั้นจึงสามารถเพิ่มขึ้นได้ โดยการฝึกฝนให้ถูกวิธี ดังนี้

    ให้ความสนใจกับคนและสิ่งรอบข้าง

    เข้าเมืองตาหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม ผู้ที่มีความฉลาดทางสังคมจะรู้จักการสังเกตและให้ความสนใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว เพื่อรับรู้ตัวชี้นำทางสังคมที่แอบซ่อนอยู่ เช่น ลักษณะการวางตัวของคนรอบข้าง วิธีการพูด การปฏิบัติตัว สิ่งเหล่านี้สามารถมองหาตัวอย่างได้จากการสังเกตสิ่งที่ผู้อื่นกระทำ จะไม่เป็นเป็นที่แปลกแยกในสังคม

    พัฒนาทักษะการสื่อสาร

    การสื่อสารนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม การที่เราจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการดำรงอยู่ในสังคมนั้นอยู่ที่ว่าเราจะสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ การพัฒนาทักษะการสื่อสารนั้นสามารถเริ่มต้นจากการพูดให้คล่อง หรือสามารถถ่ายทอดความคิดออกไปได้อย่างถูกต้องโดยไม่เกิดความตึงเครียดหรือกดดัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้วาจา การแสดงออก ทั้งทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา

    รวมถึงเรียนรู้และฝึกฝนการตีความพฤติกรรมอวัจนภาษาของผู้อื่น เพื่อช่วยในการสื่อสารความหมายออกไปได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้อย่าลืมมองตากับผู้ฟังเสมอ เพื่อแสดงออกถึงความมั่นใจ อันเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางสังคมให้เพิ่มขึ้น

    ยอมรับในความแตกต่าง

    คนเราอาจจะมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน เนื่องจากการเลี้ยงดูและวัฒนธรรมที่แตกต่าง คุณควรยอมรับและให้ความเคารพกับความแตกต่างเหล่านี้ โดยเฉพาะกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง เข้าหา และทำความเข้าใจกับพวกเขา เพื่อเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับพวกเขาได้อย่างมีความสุข

    รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

    เรามักจะรู้สึกดี เวลาที่มีคนเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเรา งานวิจัยพบว่า การเอาใจใส่ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการพัฒนาความฉลาดทางสังคม เมื่อเราแสดงออกให้เห็นถึงความเข้าใจในตัวผู้อื่น พวกเขาก็จะรู้สึกได้รับการสนับสนุน และมีแนวโน้มที่จะตอบสนองเราได้มากกว่า

    พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (E.Q.)

    แม้ว่าความฉลาดทางอารมณ์นั้นอาจจะคล้ายคลึงกับความฉลาดทางสังคมอยู่บ้าง แต่ความฉลาดทางอารมณ์นั้นจะเน้นไปที่การรู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเอง และเรียนรู้การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเสริมสร้างและช่วยพัฒนาความฉลาดทางสังคมของเราได้ ในการสังเกตผู้อื่น และการควบคุมอารมณ์ของตนเอง

    การที่คุณจะมีความฉลาดทางสังคมได้นั้น คุณอาจจำเป็นต้องมีการจัดการทัศนคติส่วนตนในทางลบเสียใหม่ก่อน เพื่อให้ความคิดของคุณอีกส่วนรู้จักเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ หรือความคิด ความรู้สึกของผู้คนรอบข้างเข้ามา แล้วจึงค่อยเข้าสู่กระบวนการคิดไตร่ตรองใหม่ว่าคุณจะมีการโต้ตอบกับพวกเขาอย่างไรด้วยจิตใจและอารมณ์เป็นเหตุเป็นผล เพราะการที่คุณเริ่มปฏิบัติฝึกตนเองด้วยเทคนิคเหล่านี้ จะสามารถทำให้คุณมีการรับมือต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เผชิญได้ดีขึ้นกว่าเดิม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 06/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา