backup og meta

Friendship Jealousy ทำไมรู้สึกไม่พอใจเมื่อเพื่อนสนิท ไปสนิทกับคนอื่น

Friendship Jealousy ทำไมรู้สึกไม่พอใจเมื่อเพื่อนสนิท ไปสนิทกับคนอื่น

หลาย ๆ คนคงเคยมีอารมณ์หึงหวงเพื่อนรักกันอย่างแน่นอน เลื่อนหน้าเฟซบุ๊กอยู่ดี ๆ ไหงเพื่อนสนิทของเราไปปาร์ตี้กลับเพื่อน ๆ กลุ่มอื่น แถมยังปล่อยให้เรานั่งอยู่บ้าน ไม่เอ่ยชวนกันอีกต่างหาก ความรู้สึกน้อยใจ อิจฉา หึงหวงมันปนเปกันไปหมด วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจมาแชร์ให้ทุกคนได้งานกัน เกี่ยวกับเรื่อง Friendship Jealousy หรือ ความรู้สึกหึงหวงในมิตรภาพ นั่นเอง ไปอ่านกันเลย

Friendship Jealousy คืออะไร

ความหึงหวง เป็นความรู้สึกที่ผสมผสานกันระหว่างความเศร้า ความโกรธ และความวิตกกังวล ความสัมพันธ์หรือมิตรภาพต่อเพื่อน เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเรา เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกไม่โดดเดี่ยว ดังนั้น การที่เพื่อนของเราไปมีเพื่อนใหม่หรือมีความสัมพันธ์ใหม่ จึงอาจทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกพรากสิ่งที่มีความสำคัญกับชีวิตเราไป และก่อให้เกิด ความรู้สึกหึงหวงในมิตรภาพ ขึ้นมา โดยส่วนใหญ่แล้วความสัมพันธ์หรือมิตรภาพ ที่มีความหึงหวงเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นนี้ มักจะพบกับจุดจบที่พังทลายลง

ความหึงหวงและความอิจฉาเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนและต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจ ไม่ว่าคุณจะมีความรู้สึกเหล่านี้เองหรือต้องเผชิญกับคนที่มีความรู้สึกแบบนี้ก็ตาม ความรู้สึกเหล่านี้เป็นอารมณ์โดยปกติทั่วไปของมนุษย์ ที่ต้องการจะปกป้อง ครอบครองสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับตัวเอง การที่เรามีความรู้สึกหึงหวงนั้น ไม่ทำให้เราเป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนคิดลบ (Toxic Person) แต่การที่เราไม่ควบคุมมันหรือจัดการกับอารมณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพจิต ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ และส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ได้ ความสัมพันธ์หรือมิตรภาพที่ดีต่อเพื่อน ที่ถูกความหึงหวงหรือความอิจฉาครอบงำ อาจทำให้ความสัมพันธ์หรือมิตรภาพเหล่านั้นพังลงได้

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเพื่อนของคุณกำลังเกิด ความรู้สึกหึงหวงในมิตรภาพ

มักชี้ให้คุณเห็นต่อข้อเสีย

เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อมีเรื่องน่ายินดี หรือว่าเรื่องที่สร้างความสุขให้คุณ คุณมักจะแชร์เรื่องราวดี ๆ เหล่านี้ให้เพื่อนสนิทของคุณได้ทราบและร่วมยินดีไปกับคุณ แต่เพื่อนสนิทของคุณกลับชี้ให้เห็นแต่ข้อเสียของเรื่องที่คุณเล่าให้ฟัง แม้เรื่องนั้นจะเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ความสัมพันธ์ของคุณและเพื่อนกำลังเกิดปัญหา

มักจะเอาชนะในทุก ๆ เรื่อง

เมื่อคุณแชร์เรื่องราวดี ๆ ในชีวิตของคุณให้เพื่อนได้ทราบ แต่เพื่อนกลับบลัฟกลับด้วยสิ่งที่ดีกว่า เช่น เมื่อคุณซื้อรถคันใหม่ แต่เพื่อนกลับตอบกลับมาว่า เป็นรถรุ่นเก่า พร้อมทั้งยังอวดสิ่งที่ดีกว่าที่เขานั้นมี หรือพยายามที่จะอยู่เหนือเราในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะคุยเรื่องอะไรก็พยายามที่จะคุยในเรื่องที่เขานั้นมีดีกว่าเสมอ

พวกเขามักจะทำให้คุณรู้สึกแย่

เพื่อนที่มีลักษณะหึงหวงในมิตรภาพ จะทำให้คุณรู้สึกแย่กับความสำเร็จของคุณ แม้ว่าคุณจะมีความภูมิใจมากมายขนาดไหน เพื่อนคนนี้ก็ยังจะหาข้อเสีย หรือสิ่งไม่ดีมาทำให้คุณรู้สึกแย่กับสิ่งที่คุณประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ พวกเขายังแสดงความคิดเห็นไปในเชิงที่ว่า คุณนั้นไม่คู่ควรกับสิ่งที่ประสบความสำเร็จ หรือการที่คุณประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่ได้มาเพราะความสามารถจริง ๆ

ไม่ให้ความช่วยเหลือเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ ทั้งเล็กหรือใหญ่ เพื่อนที่มีลักษณะหึงหวงในมิตรภาพ มักจะไม่ให้ความช่วยเหลือแก่คุณเลยไม่ว่าด้านใดก็ตาม นอกจากไม่ให้ความช่วยเหลือแล้ว ยังพูดให้คุณรู้สึกขาดความมั่นใจอีกด้วย เช่น มันยากเกินความสามารถเธอไม่น่าทำได้ หรือ ผู้หญิงคนนั้นไม่น่าชอบคนอย่างนายหรอก เปลี่ยนใจดีกว่า

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How Jealousy Can Poison a Friendship.
https://www.psychologytoday.com/us/blog/lifetime-connections/201504/how-jealousy-can-poison-friendship.

Your Fortune, Their Envy: Dealing with a Jealous Friend.
https://www.goodtherapy.org/blog/your-fortune-their-envy-dealing-with-jealous-friend-1012197.

“Friendship Jealousy”: An (Overlooked) Emotion for Friendship
Maintenance?.
https://repository.asu.edu/attachments/201019/content/Krems_asu_0010E_17691.pdf.

When Friends Have Other Friends.
https://www.researchgate.net/publication/229774468_When_Friends_Have_Other_Friends.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/03/2021

เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาสุขภาพกับของ 5 สิ่งที่คุณไม่ควรยืมจากเพื่อน

ปัญหาโลกแตก! รับมืออย่างไรเมื่อ เพื่อนร่วมงานเป็นไบโพลาร์


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 28/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา