backup og meta

ผมร่วงเป็นหย่อม สาเหตุ อาการ และการรักษา

ผมร่วงเป็นหย่อม สาเหตุ อาการ และการรักษา

ผมร่วงเป็นหย่อม หรือโรคผมร่วงเป็นวง (Alopecia Areata) เป็นโรคที่เกิดจากภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง ส่งผลให้ผู้ป่วยผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังส่วนที่มีขนทุกส่วน หากอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่อาจทำการดูแลสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะเพื่อช่วยให้เส้นผมขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วและมีสุขภาพดี

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

ผมร่วงเป็นหย่อม คืออะไร

โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือโรคผมร่วงเป็นวง (Alopecia Areata) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังส่วนที่มีขน (Hair-bearing skin) ทุกส่วน ลักษณะของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็นบนหนังศีรษะเป็นหย่อม ๆ บางครั้งโรคนี้อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย

ผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมส่วนใหญ่ จะมีหย่อมผมร่วงเพียงไม่กี่จุดเท่านั้น และผมมักจะขึ้นใหม่ได้เองตามธรรมชาติ แต่บางครั้งโรคผมร่วงเป็นหย่อมก็อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น โรคผมร่วงหมดศีรษะ (Alopecia Totalis) หรือในกรณีรุนแรง อาจทำให้เกิดโรคผมร่วงทั่วตัว (Alopecia Universalis) คือ ผมร่วงหมดศีรษะ ขนคิ้ว ขนตา และขนตามร่างกายก็ร่วงด้วย

ผมร่วงเป็นหย่อม พบได้บ่อยแค่ไหน

โรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอายุต่ำกว่า 30 ปี โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของ ผมร่วงเป็นหย่อม

อาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

  • ผมร่วงเป็นหย่อม มักเริ่มต้นด้วยการเกิดหย่อมที่ผมร่วง ลักษณะเป็นจุดกลม ๆ ผิวหนังอ่อนนุ่ม เส้นผมร่วงจนเกลี้ยง ขนาดประมาณเหรียญบาท ในระยะแรกอาจสังเกตเห็นว่ามีกระจุกผมร่วงอยู่บนหมอน หรือผมร่วงมากกว่าปกติเวลาอาบน้ำสระผม ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดบริเวณหนังศีรษะ แต่ความจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้กับบผิวหนังส่วนที่มีขนทั้งหมด บางกรณีอาจเกิดกับผิวหนังบริเวณคิ้ว ขนตา หรือหนวดได้ด้วย
  • มีเส้นผมสั้นรูปร่างคล้ายเครื่องหมายอัศเจรีย์ คือ มีผมเส้นสั้น ๆ ที่โคนผมเรียวเล็กกว่าปลายผม งอกขึ้นบริเวณขอบของหย่อมที่ผมร่วง
  • เล็บผิดปกติ โรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถส่งผลกระทบกับเล็บมือและเล็บเท้าได้ด้วย เช่น เล็บมีรอยบุ๋ม เล็บมีจุดขาว เล็บมีเส้นขาว หน้าเล็บขรุขระ เล็บไม่เงา เล็บบาง เล็บเปราะฉีกขาด ในบางกรณี อาจทำให้เล็บเปลี่ยนรูปทรง หรือทำให้เล็บหลุดได้ด้วย

สาเหตุ

สาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

ปัจจุบันมีหลักฐานว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งนำไปสู่ภาวะไม่ตอบสนองต่อแอนติเจนตัวเอง หรือที่มักเรียกว่าภาวะภูมิต้านตัวเอง (Autoimmunity) คือ ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดและโจมตีเนื้อเยื่อในร่างกาย ในกรณีของโรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากระบบบภูมิคุ้มกันโจมตีรูขุมขน (Hair follicles) และเข้าขัดขวางการเจริญเติบโตของเส้นผม

จากการตรวจชิ้นเนื้อที่บริเวณที่ได้รับผลกระทบพบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันแทรกซึมเข้าสู่กระเปาะผม (Hair Bulb) ที่อยู่ล่างสุดของรากผม และนำไปสู่โรคผมร่วงเป็นหย่อม

ในบางกรณี โรคผมร่วงเป็นหย่อมก็เป็นผลมาจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคด่างขาว โรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคลูปัส โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

ปัจจัยเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้

  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้
  • มีอาการของโรคตั้งแต่อายุยังน้อย (ก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์) หรือมีอาการของโรคนานเกิน 1 ปี
  • มีประวัติโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองอื่น ๆ
  • เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
  • ผมร่วงมากผิดปกติ
  • เล็บมือและเล็บเท้ามีสี รูปร่าง ความหนา หรือลักษณะผิดปกติ

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย ผมร่วงเป็นหย่อม

ปกติแล้ว คุณหมอจะวินิจฉัยโรคผมร่วงเป็นหย่อมด้วยการตรวจประเมินอาการ ซักประวัติ และตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ หากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด คุณหมออาจต้องให้คุณเข้ารับการทดสอบบางประการ เพื่อหาว่าคุณเป็นโรคที่อาจทำให้ผมร่วงหรือไม่ การทดสอบเหล่านั้น ได้แก่

  • การตรวจวิเคราะห์ผม คุณหมอจะนำตัวอย่างเส้นผมไปส่องในกล้องจุลทรรศน์ และในบางครั้ง อาจต้องเก็บตัวอย่างหนังศีรษะด้วย
  • การตรวจเลือด และการตรวจประเมินเฉพาะโรค เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะขาดไทรอยด์

การรักษา ผมร่วงเป็นหย่อม

โดยปกติแล้ว บริเวณที่ผมร่วงจะมีผมงอกใหม่ได้เองภายในเวลา 1 ปี และอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแต่อย่างใด แต่ในระหว่างที่รอผมงอกใหม่ โดยอาจต้องดูแลตัวเองด้วยอุปกรณ์เหล่านี้

  • แฮร์พีช (Hairpieces) หรือวิกผม เพื่อปิดบริเวณที่ผมร่วงเป็นหย่อม
  • ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม ที่ช่วยให้ผมดูหนาขึ้น

แต่หากต้องการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม คุณหมออาจดำเนินการรักษาให้ด้วยการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ลงที่ผิวหนังหรือหนังศีรษะบริเวณที่มีปัญหา (ยา 1 เข็มต่อหนึ่งผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตร) โดยต้องฉีดทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ แต่หากเป็นเด็ก คุณหมอจะให้ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาแทน ในบางกรณี คุณหมออาจให้ใช้ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) ร่วมด้วย

นอกจากนี้ คุณหมออาจสั่งยาแอนทราลิน (Anthralin) ให้ใช้ทาในบริเวณผิวหนังที่มีปัญหาผมร่วง เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผมงอกใหม่ โดยอาจต้องใช้ยานี้อย่างน้อย 2 เดือน เส้นผมใหม่จึงจะเริ่มงอก

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยรับมือกับโรคผมร่วงเป็นหย่อม

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองต่อไปนี้ อาจช่วยรับมือกับโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้

  • บางคนเชื่อว่าการทาน้ำหอมหัวใหญ่ น้ำกระเทียม ชาเขียวเย็น น้ำมันอัลมอนด์ น้ำมันโรสแมรี่ น้ำผึ้ง หรือกะทิ ลงบนผิวหนังที่มีปัญหาผมร่วง สามารถช่วยกระตุ้นการเกิดเส้นผมใหม่ได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่ยืนยันเรื่องนี้ได้
  • บางคนเชื่อว่าการรักษาทางเลือก เช่น การฝังเข็ม สุคนธบำบัด หรืออโรมาเธอราพี (Aromatherapy) สามารถช่วยกระตุ้นให้ผมงอกใหม่ได้ แต่ก็ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเช่นกัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Alopecia Areata – Topic Overview. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/hair-loss/tc/alopecia-areata-topic-overview#1. Accessed November 29, 2022.

ALOPECIA AREATA: SIGNS AND SYMPTOMS. https://www.aad.org/public/diseases/hair-and-scalp-problems/alopecia-areata#symptoms. Accessed November 29, 2022.

Alopecia areata. https://dermnetnz.org/topics/alopecia-areata. Accessed Accessed November 29, 2022.

Alopecia Areata. https://www.niams.nih.gov/health-topics/alopecia-areata. Accessed November 29, 2022.

Hair loss. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hair-loss/symptoms-causes/syc-20372926. Accessed November 29, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผมไฟฟ้าสถิต หวีแล้วผมฟู มีวิธีรับมือและแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

เด็กผมร่วง เกิดจากอะไร และวิธีรับมือที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา