backup og meta

อาหารสําหรับผู้ป่วยลําไส้อุดตัน มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 21/03/2023

    อาหารสําหรับผู้ป่วยลําไส้อุดตัน มีอะไรบ้าง

    ภาวะลำไส้อุดตัน เป็นสภาวะที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร และส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหารของผู้ป่วยอย่างมาก เพราะการกินอาหารอย่างไม่เหมาะสม อาจทำให้อาการลำไส้อุดตันทรุดหนักลงได้ ซึ่ง การเลือก อาหารสําหรับผู้ป่วยลําไส้อุดตัน ถือเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจอย่างมาก เนื่องจากระดับความรุนแรงของภาวะลำไส้อุดตันจะสามารถรับประทานอาหารได้ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมจึงอาจช่วยบรรเทาอาการและไม่ทำให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น

    ภาวะลำไส้อุดตัน คืออะไร

    ภาวะลำไส้อุดตัน คือ ภาวะที่ลำไส้เกิดการอุดตันจนทำให้กากอาหารหรือของเหลวไม่สามารถไหลผ่านระบบทางเดินอาหารได้ตามปกติ การอุดตันนี้อาจเกิดจากการที่ลำไส้ตีบแคบลง เนื่องจากอาการบวมของผนังลำไส้ แผลเป็นจากการผ่าตัด หรืออาจเกิดอาการลำไส้บิดก็ได้

    เมื่อเกิดการอุดตันขึ้นในระบบทางเดินอาหาร จึงจำเป็นต้องระมัดระวังการรับประทานอาหารมากเป็นพิเศษ เพราะหากผู้ป่วยที่มีอาการลำไส้อุดตันยังคงรับประทานอาหารตามปกติ อาจทำให้กากอาหารยิ่งไปอุดตันลำไส้มากขึ้น ไม่สามารถระบายออกไปได้ และอาจทำให้เกิดภาวะที่อันตราย เช่น ลำไส้แตก

    อาหารสําหรับผู้ป่วยลําไส้อุดตัน มีอะไรบ้าง

    โดยปกติแล้ว คุณหมอจะเป็นผู้กำหนดอาหารที่ผู้ป่วยภาวะลำไส้อุดตันสามารถรับประทานได้ โดยขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ โดยอาจแบ่งได้ดังนี้

    ภาวะลำไส้อุดตันในระดับเบา

    ผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตันในระดับเบา อาจจะมีอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้องบ้างนาน ๆ ครั้ง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยอาการอุดตันในลำไส้อาจเกิดขึ้นแค่บางส่วน ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตันในระดับเบาอาจสามารถฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้ด้วยการควบคุมการรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้อาการอุดตันนั้นรุนแรงขึ้น จนอาจนำไปสู่ภาวะลำไส้อุดตันในระดับรุนแรง

    อาหารที่ควรรับประทานสำหรับผู้ป่วยในสภาวะนี้ คือ อาหารที่มีใยอาหารต่ำ ดังนี้

    • นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมต่าง ๆ
    • เนื้อสัตว์ ที่ปรุงสุกโดยวิธีการต้ม นึ่ง อบ หรือตุ๋น
    • ไข่ทุกประเภท
    • เต้าหู้นิ่ม ๆ
    • ผักที่มีใยอาหารน้อย เช่น แครอท บร็อคโคลี่ ฟักทอง มันฝรั่ง มะเขือเทศ หัวผักกาด หน่อไม้ฝรั่ง ผักเหล่านี้ ควรปรุงให้สุกจนนิ่ม และปอกเปลือกออกทุกครั้ง เพราะในเปลือกจะมีใยอาหารสูง
    • ขนมปัง และอาหารจำพวกแป้งที่ทำมาจากแป้งขัดสีแล้ว

    นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีใยอาหารสูงต่าง ๆ เช่น ผักใบเขียว เปลือกผักและผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ เห็ด สับปะรด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

    ภาวะลำไส้อุดตันในระดับปานกลาง

    ผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตันในระดับปานกลาง อาจเริ่มมีอาการปวดท้องอย่างผิดปกติ ท้องอืดบ่อย ๆ และเป็นเวลานานจนเรื้อรัง การสะสมของกากอาหารในลำไส้ก็อาจจะเริ่มเพิ่มมากขึ้น จึงควรระมัดระวังการรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น

    ผู้ป่วยในสภาวะนี้ควรพยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร เช่น

    • ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น นม โยเกิร์ต ครีม ชีสต่าง ๆ
    • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อไก่
    • อาหารแปรรูปต่าง ๆ เช่น ไส้กรอก โบโลญญ่า
    • ผักและผลไม้ทุกชนิด
    • ขนมปังโฮลวีต และข้าวกล้องต่าง ๆ

    ภาวะลำไส้อุดตันในระดับรุนแรง

    ผู้ป่วยในสภาวะนี้ควรงดการรับประทานอาหารที่เป็นของแข็งทั้งหมด และรับประทานได้เพียงอาหารเหลวต่าง ๆ เท่านั้น เช่น

    • นมและโยเกิร์ต
    • น้ำผักและน้ำผลไม้ ที่กรองเอากากออกหมดแล้ว
    • ซุปบดละเอียดต่าง ๆ ที่ผ่านการกรองกากออกแล้ว
    • คัสตาร์ด ไอศกรีม พุดดิ้ง และขนมที่มีลักษณะนิ่ม ไม่มีเส้นใยอาหาร

    นอกจากนี้ ผู้ป่วยก็อาจต้องรับประทานอาหารเสริมต่าง ๆ ในรูปแบบอาหารเหลว เพื่อช่วยชดเชยวิตามินและแร่ธาตุที่ขาดหายไปจากการรับประทานอาหารตามปกติ

    ข้อควรระวังในการกินอาหารสำหรับผู้ป่วยลำไส้อุดตัน

    • จดบันทึกชนิดของอาหารที่ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องอืด และแจ้งให้คุณหมอทราบ เผื่อจะต้องปรับอาหารที่รับประทานเพิ่มเติม
    • รับประทานทีละน้อย ๆ อย่ากินเยอะเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง และท้องอืดอย่างรุนแรงได้
    • เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนจึงค่อยกลืน
    • ดื่มน้ำเปล่า อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
    • รับประทานอาหารเสริม เพื่อชดเชยวิตามินและแร่ธาตุที่ขาดหายไป
    • หลีกเลี่ยงอาหารทอดและมัน เพราะอาจทำให้ท้องอืดได้

    คำแนะนำในการรับประทานอาหาร สำหรับผู้ป่วยลำไส้อุดตันเหล่านี้ เป็นเพียงคำแนะนำส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการจัดการกับอาการลำไส้อุดตันเท่านั้น ไม่ใช่วิธีการรักษาโรค ผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตันควรเข้ารับการรักษากับคุณหมออย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น และส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 21/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา