โรคเบาหวานเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่ตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลิน หรือตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอจนกระทบต่อการลำเลียงน้ำตาลไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์ในร่างกาย ส่งผลให้น้ำตาลสะสมอยู่ในเลือดและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายปีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไต โรคหัวใจ เบาหวานขึ้นตา ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท
โดยทั่วไปความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นหลังจากอายุ 45 ปี โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย หิวหรือกระหายน้ำมากขึ้น น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ ถ่ายปัสสาวะบ่อย การมองเห็นแย่ลง ผู้สูงอายุบางคนคิดว่าอาการเหล่านี้เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้นและปล่อยผ่านไป ทางที่ดี ทางมีอาการดังกล่าว ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม
โรคข้ออักเสบ (Arthritis)
เป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลต่อข้อต่อ เนื้อเยื่อรอบข้อต่อ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอื่น ๆ ทำให้มีอาการปวดเมื่อย ตึงข้อ ข้อบวมแดง สูญเสียความยืดหยุ่นและขยับได้ยาก โดยทั่วไปแล้วความเสี่ยงในการเกิดโรคข้ออักเสบมักเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น การใช้งานร่างกายที่หักโหมเกินไป โรคนี้มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะหลังจากอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากสูญเสียมวลกระดูกได้มากกว่าผู้ชาย โรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยที่สุดในหมู่ผู้สูงอายุ คือ โรคข้อเสื่อมหรือโรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อม (Osteoarthritis) เกิดขึ้นเมื่อกระดูกอ่อนที่หุ้มปลายกระดูกค่อย ๆ เสื่อมลง และมักทำให้เกิดความผิดปกติบริเวณข้อต่อในมือ เข่า สะโพก กระดูกสันหลัง
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำและส่งผลต่อกระบวนการคิดและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เป็นภาวะเสื่อมตามธรรมชาติ แต่เกิดจากสารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลงผิดปกติ ทำให้เซลล์สมองเสียหายและทำให้ประสิทธิภาพของสมองเสื่อมถอยลง ปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ของภาวะนี้คือ อายุ ประวัติครอบครัว และพันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันได้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
การดูแลสุขภาพของ ผู้สูงอายุ อย่างเหมาะสม
วิธีดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการที่เกิดจากปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ อาจมีดังนี้
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสมตามค่าดัชนีมวลกาย เพราะน้ำหนักที่ลดลงเพียงไม่กี่กิโลกรัมก็ช่วยให้หัวใจทำงานหนักน้อยลง และลดระดับความดันโลหิตได้ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุไม่ควรมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ภาวะขาดสารอาหาร
- จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูปอย่างไส้กรอก ไส้อั่ว แหนม อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง
- พยายามไม่เครียดมากเกินไป อาจหาเวลาทำงานอดิเรกที่สนใจ เช่น การอ่านหนังสือ การวาดรูป หรือใช้เวลาร่วมกับเพื่อน ปรึกษาปัญหาหรือระบายกับคนที่ไว้ใจได้ หรือพบนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำอย่างเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญ
- ใช้ชีวิตแบบกระฉับกระเฉง ขยับร่างกายบ่อย ๆ ไม่นั่งอยู่กับที่เป็นเวลาหลายชั่วโมง และออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดินในสวนสาธารณะ การเต้นแอโรบิก การรำมวยจีน อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 30 นาที
- เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีตามนัดหมายเป็นประจำ ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และกินยาให้ครบถ้วนเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่
- ลดการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เช่น เบเกอรี่ที่มีเนยขาวและมาการีนอย่างขนมขบเคี้ยว คุกกี้ แครกเกอร์ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และย่อยได้ง่าย เช่น เนื้อปลานึ่งซีอิ๊ว โจ๊กกุ้ง ฟักทองผัดไข่ ผลไม้เนื้อนุ่มและเคี้ยวง่ายอย่างกล้วยสุก มะละกอ แก้วมังกร อาหารที่มีแคลเซียมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงกระดูกอย่างนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่มีไขมันต่ำ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย