backup og meta

การดูแลสุขภาพหัวใจและ หลอดเลือด สำหรับผู้สูงอายุ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์ · โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    การดูแลสุขภาพหัวใจและ หลอดเลือด สำหรับผู้สูงอายุ

    โรคเกี่ยวกับหัวใจและ หลอดเลือด อย่างโรคหลอดเลือดแดงแข็ง มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเสื่อมโทรมของร่างกาย  เมื่ออายุมากขึ้น ทำให้หลอดเลือดแดงอาจเกิดการแข็งตัวหรืออุดตันได้ง่าย รวมถึงอาจเกิดภาวะสุขภาพต่าง ๆ ที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย อย่างภาวะความดันโลหิตสูงหรือภาวะไขมันในเลือดสูง จนนำไปสู่โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้ การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ มีหลายวิธี ทั้งการออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

    ผู้สูงอายุกับปัญหาหัวใจและ หลอดเลือด

    ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง หรือหลอดเลือดแดงแข็งตัวหรืออุดตัน ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ

    เมื่อเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง การไหลเวียนของเลือดไม่ดีพอมักทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนและสารอาหารในเลือดมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ส่งผลให้หัวใจอ่อนแอหรือเสียหาย นำไปสู่ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดโป่งพอง หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

    ทั้งนี้ เพศชายสูงอายุมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจวายมากกว่าเพศหญิงสูงอายุ

    เพศชาย มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจวายประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ในช่วงอายุ 60 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 80 ปี ขณะเดียวกัน เพศหญิงในช่วงอายุ 60 ปี มักมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจวายประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มเป็น 19 เปอร์เซ็นต์เมื่ออายุ 80 ปีขึ้นไป

    การดูแลสุขภาพหัวใจและ หลอดเลือด ในผู้สูงอายุ

    โรคเกี่ยวกับหัวใจและ หลอดเลือด จัดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก ปี พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมดทั่วโลกมีจำนวนประมาณ 17.9 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในปี พ.ศ. 2563

    เพื่อป้องกันความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการเสียชีวิตด้วยโรคในกลุ่มดังกล่าว สามารถดูแลตนเองได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น เนย ชีส น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ไอศกรีม เนื้อสัตว์ติดมัน บิสกิต และเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม ซาลามี เนื่องจากไขมันอิ่มตัวสามารถทำให้ไขมันเลวอย่างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL Cholesterol) ในหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น และนำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือดรวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
  • นอนหลับให้เพียงพอ หรือวันละ 7-9 ชั่วโมง หากนอนน้อยเกินไปอาจเป็นสาเหตุให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น งานวิจัยชิ้นหนึ่ง หัวข้อความสัมพันธ์ระหว่างการนอนไม่หลับและโรคหัวใจและหลอดเลือด ตีพิมพ์ในวารสาร Chest ปี พ.ศ. 2560 อ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น ระบุว่า การนอนไม่หลับ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการนอนน้อยร่วมด้วยอาจทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานหนักมากขึ้นและอาจก่อให้เกิดการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงและการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • หาวิธีจัดการความเครียด อาจนั่งสมาธิ ฝึกโยคะ ออกไปเที่ยว หรือทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ เนื่องจากความเครียดจะกระตุ้นให้ระบบประสาทผลิตฮอร์โมนที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งเป็นสาเหตุให้ความดันเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวาย รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • งดสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้ระบบประสาทหลั่งสารนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งส่งผลให้หัวใจเต้นแรงและความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น การสูบบุหรี่ ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวผิดปกติ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและเป็นอันตรายต่อหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มหนักหรือดื่มเป็นประจำ นอกจากนั้น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติเนื่องจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Cardiomyopathy) ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ในกล้ามเนื้อหัวใจทำให้หัวใจอ่อนแอ สูบฉีดเลือดได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวด้วย
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแป้งหรือน้ำตาล เช่น ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว น้ำอัดลม ขนมหวานต่าง ๆ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไป โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานอาจทำให้หลอดเลือดแข็งตัวหรือตีบแคบลงได้ง่าย ซึ่งส่งผลกระทบให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี และความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นได้
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ วันละประมาณ 30-60 นาที เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับคอเลสเตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

    โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา