ทำไมเราจึงมีอาการหูอื้อ
อาการหูอื้ออาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การสูญเสียการได้ยินเนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ประสาทการได้ยินของบางคนอาจจะแย่ลงเรื่อย ๆ เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น
- ได้ยินเสียงดังเสียงที่มีความดังมาก เช่น เสียงเพลง เสียงก่อสร้าง เสียงเครื่องบิน อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อได้ โดยเฉพาะการใส่หูฟังเพลงเสียงดังเป็นเวลานานติดต่อกัน
- ขี้หูอุดตัน ขี้หูนั้นจะทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในหู แต่หากมีขี้หูสะสมมากเกินไป อาจรบกวนการได้ยิน และทำให้รู้สึกหูอื้อได้
- กระดูกหูเกิดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของกระดูกหูชั้นกลางนั้นอาจส่งผลกระทบกับการได้ยินและทำให้เกิดอาการหูอื้อได้
- น้ำในหูไม่เท่ากัน อาการหูอื้ออาจจะเกิดจากความผิดปกติของแรงดันน้ำภายในหู
- ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร หากเกิดความผิดปกติในบริเวณข้อต่อขากรรไกรซึ่งเชื่อมระหว่างกระโหลกศีรษะกับกรามส่วนล่าง ก็อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อได้
- การบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ อาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทของสมองที่เชื่อมกับประสาทการได้ยิน ทำให้เกิดอาการหูอื้อ
- การใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาต้านมาลาเรีย หรือยาปฏิชีวนะ อาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการหูอื้อได้
- แรงดันอากาศ ในบางครั้งแรงดันอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เช่น การขึ้นเครื่องบิน ก็อาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อแก้วหูและเกิดอาการหูอื้อได้
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอีกมากที่อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อได้ หากอาการหูอื้อของคุณไม่หายไปเสียที หรือเป็นบ่อยจนเกินไป ทางที่ดีคุณก็ควรที่จะเข้ารับการตรวจจากแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
การรักษาอาการหูอื้อ
การรักษาอาการหูอื้อนั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อ แพทย์จะต้องทำการตรวจและวินิจฉัยสาเหตุของอาการหูอื้อของคุณให้แน่ชัดก่อนที่จะเริ่มทำการรักษา โดยวิธีการรักษาอาจมีดังต่อไปนี้
- กำจัดขี้หู การกำจัดขี้หูส่วนเกินที่อุดตันอยู่อาจช่วยรักษาอาการหูอื้อได้
- กลืนน้ำลาย เคี้ยวหมากฝรั่ง อ้าปากหาวกว้าง ๆ หรือเอามือบีบจมูกทั้งสองข้างและหายใจออกทางจมูกแรง ๆ อาจช่วยแก้อาการหูอื้อที่เกิดจากแรงดันอากาศได้
- รักษาโรคที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อ หากอาการหูอื้อของคุณมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะของโรคบางอย่าง การรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุนั้นจะช่วยแก้อาการหูอื้อได้
- เปลี่ยนยา หากอาการหูอื้อนั้นเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา คุณอาจต้องเปลี่ยนตัวยา หรือลดขนาดยา เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่ทำให้หูอื้อนั้น
- ผ่าตัด ในกรณีที่อาการหูอื้อนั้นเกิดจากการที่แก้วหูอักเสบหรือฉีดขาดอย่างรุนแรง อาจทำให้ต้องมีการผ่าตัดเพื่อทำการรักษาอาการหูอื้อนั้น
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย