หลายคนอาจคุ้นเคย หรือรู้ว่าเนื้องอกสามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น เนื้องอกในมดลูก เนื้องอกรังไข่ เนื้องอกในสมอง ได้ แต่คุณรู้ไหมว่า ที่ข้อต่อของเราก็สามารถเป็นเนื้องอก หรือที่เรียกว่า เนื้องอกข้อต่อ ได้เช่นกัน Hello คุณหมอ มีบทความดี ๆ เกี่ยวกับอาการ และวิธีการรักษาเนื้องอกชนิดนี้เบื้องต้นมาฝาก เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทัน และระวังตนเองจากภาวะสุขภาพนี้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
ทำความรู้จักกับ เนื้องอกข้อต่อ กันเถอะ
เนื้องอกข้อต่อ (Tenosynovial giant cell tumor หรือ TGCT) จัดเป็นกลุ่มเนื้องอกหายากที่มักเกิดขึ้นในข้อต่อ โดยส่วนใหญ่เนื้องอกนี้จะปรากฎบริเวณไขข้อที่มีชื่อเรียกว่า Synovium และ Bursae ซึ่งเป็นถุงน้ำที่มีส่วนช่วยในการเคลื่อนไหว รวมถึงเกิดที่ปลอกหุ้มเอ็นได้ด้วย แต่คุณไม่ต้องกังวลใจไป เนื่องจากเนื้องอกข้อต่อจะไม่พัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ ปกติเนื้องอกข้อต่อมีหลายประเภท และมีระดับความรุนแรงต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโต ดังนี้
- เนื้องอกขนาดใหญ่ในปลอกหุ้มเอ็น (GCTTS) เป็นเนื้องอกที่เจริญเติบโตช้าที่สุด ส่วนใหญ่มักเกิดที่บริเวณข้อต่อในมือ
- เนื้องอกขนาดใหญ่ชนิด Pigmented villonudular synovitis (PVNS) เป็นเนื้องอกที่มีการแพร่กระจาย มักส่งผลกระทบกับข้อต่อบริเวณ ไหล่ ข้อศอก สะโพก และเท้า โดยมีอีกชื่อเรียกว่า โรคซินโนวิติส (Synovitis)
หากเกิดเนื้องอกขนาดใหญ่ชนิด PNVS และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เนื้องอกแพร่กระจายไปทำลายเนื้อเยื่อในโครงสร้างอื่น ๆ ภายในร่างกาย ส่งผลให้ข้อต่อที่ได้รับผละกระทบเสื่อมสภาพลง และมีความเสียหายอย่างมากเลยทีเดียว
เนื้องอกข้อต่อเกิดจากสาเหตุใด
ปัจจุบัน ยังมีงานศึกษาวิจัยไม่มากพอที่จะยืนยันได้ว่าเนื้องอกข้อต่อ (TGCT) เกิดจากสาเหตุใดกันแน่ แต่ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า เนื้องอกชนิดนี้โครโมโซมบางอันแยกออกจากกันและเปลี่ยนที่
โครโมโซมของเราจะมีรหัสพันธุกรรมที่ใช้ในการผลิตโปรตีน การที่โครโมโซมย้ายที่ส่งผลให้มีการผลิตโปรตีนที่เรียกว่า colony-stimulating factor 1 (CSF1) มากจนเกินไป โปรตีนชนิดดังกล่าวจะไปดึงดูดเซลล์ที่มีตัวรับโปรตีนนี้อยู่บนผิวเซลล์ ซึ่งรวมถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า แมคโครเฟจ (Macrophage) ด้วย เซลล์เหล่านี้จะเกาะกลุ่มกันเป็นก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นก้อนเนื้องอกได้ในที่สุด
อาการของเนื้องอกข้อต่อ
สัญญาณ หรืออาการของเนื้องอกในข้อต่อเบื้องต้นที่คุณสามารถสังเกตได้ มีดังนี้
- อาการบวมเป็นก้อนในข้อต่อ
- รู้สึกว่าเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่เพราะข้อฝืด
- มีเสียงดังเล็กน้อยเกิดขึ้นเมื่อคุณขยับข้อต่อ หรือหยิบจับยกสิ่งของ
การรักษาเนื้องอกในข้อต่อ
แพทย์อาจเริ่มวินิจฉัยอาการของคุณด้วยการเอกซเรย์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) การเก็บชิ้นเนื้อส่งตรวจ หรือน้ำไขข้อจากข้อต่อไปตรวจ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่แน่ชัด ก่อนวางแผนการรักษาในลำดับถัดไป ส่วนใหญ่ แพทย์มักเลือกการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก และทำการฉายรังสีซ้ำเพื่อกำจัดเนื้องอกส่วนที่เหลือและไม่สามารถผ่าออกได้ เพื่อไม่ให้เซลล์ตกค้างสะสม อีกทั้งแพทย์จะการให้ยา colony-stimulation factor 1 receptor (CSF1R) inhibitors ร่วมด้วย เพื่อให้ยาเข้าไปขวางการทำงานของโปรตีนส่วนเกิน