หากต้องการ ลดน้ำหนักแบบสุขภาพดี ทำได้ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การกินยาลดความอ้วน การมุ่งมั่นลดน้ำหนักจนทำให้เครียดจัด เพื่อไม่ให้เสียสุขภาพ และสามารถลดน้ำหนักได้อย่างเห็นผล
[embed-health-tool-bmr]
ลดน้ำหนักแบบสุขภาพดี ควรหลีกเลี่ยงสิ่งใดบ้าง
1. อดอาหาร หรือกินอาหารแคลอรี่ต่ำมาก
การกินอาหารแคลอรี่ต่ำสามารถทำให้น้ำหนักลดลง แต่นอกจากน้ำหนักแล้ว มวลกล้ามเนื้อและการเผาผลาญอาหารยังลดลงด้วย นอกจากนี้การจำกัดแคลอรี่อย่างเข้มงวดยังทำให้ร่างกายสะสมไขมันมากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากไปกว่านั้น ไม่ควรกินอาหารต่ำกว่า 1,200 แคลอรี่ เนื่องจากอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และการกินอาหารแคลอรี่ต่ำที่น้อยกว่า 1,000 แคลอรี่ต่อวัน อาจนำไปสู่การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ รวมถึงการเผาผลาญพลังงานช้าลงอย่างมีนัยสำคัญ
2. สนใจแต่ตัวเลขน้ำหนัก
เป็นเรื่องธรรมดาที่มักจะรู้สึกว่า ลดน้ำหนักได้ไม่เร็วเท่าที่ต้องการ ทั้ง ๆ ที่ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขน้ำหนักบนตราชั่งเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการรู้น้ำหนักตัวเท่านั้น เนื่องจากน้ำหนักของคนเราประกอบด้วยหลายอย่าง ได้แก่ ความผันผวนของของเหลวในร่างกาย อาหารที่เหลืออยู่ในร่างกาย และอื่น ๆ
ในความจริงแล้ว น้ำหนักสามารถขึ้น-ลงได้ถึง 1.8 กิโลกรัมตลอดทั้งวัน ขึ้นอยู่กับอาหารและของเหลวที่บริโภค ดังนั้น จึงไม่ควรกังวลกับตัวเลขน้ำหนักมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความเครียด และลดน้ำหนักไม่สำเร็จในที่สุด อย่างไรก็ตาม สามารถชั่งน้ำหนักทุกวันได้ แต่ไม่ควรกังวลกับตัวเลขน้ำหนักที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ในแต่ละวันมากจนเกินไป
3. ออกกำลังกายหนักเกินไป
ออกกำลังกายอย่างหนักอาจดูเป็นเรื่องที่ดี แต่ความจริงแล้วการหักโหมออกกำลังกายอาจทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและภาวะขาดน้ำ และในทางจิตวิทยา บางคนอาจเปลี่ยนการออกกำลังกาย เป็นการลงโทษหากตัวเองกินอาหารมากเกินไป
นอกจากนี้ สถาบัน The American College of Sports Medicine และสมาคมโรคหัวใจสหรัฐฯ แนะนำว่า ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ ที่ความหนักระดับปานกลาง หรือในกรณีที่ออกกำลังกายที่ระดับความหนักมาก ควรใช้เวลา 20 นาที เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ มากไปกว่านั้นควรออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง เพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เป็นเวลา 2-3 วันต่อสัปดาห์
4. กินอาหารไขมันต่ำ แต่น้ำตาลสูง
อาหารไขมันต่ำถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่กำลังลดความอ้วน อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำเหล่านี้มักจะใส่น้ำตาลเพิ่ม เพื่อปรับปรุงรสชาติ เช่น โยเกิร์ตไขมันต่ำ 1 ถ้วย (245 กรัม) อาจมีน้ำตาลถึง 47 กรัม (เกือบ 12 ช้อนชา) ซึ่งแทนที่จะทำให้อิ่ม อาหารไขมันต่ำอาจทำให้หิวมากกว่าเดิม และทำให้กินมากในที่สุด ดังนั้น ก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำมากิน ควรดูปริมาณน้ำตาลก่อนกิน
5. กินอาหารเสริมเพื่อลดน้ำหนัก
หากต้องการกินอาหารเสริมเพื่อลดน้ำหนักควรปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากอาหารเสริมแต่ละยี่ห้ออาจมีมาตรฐานการผลิตไม่เหมือนกัน และอาจไม่จำเป็นต้องใช้อาหารเสริมเพื่อลดน้ำหนัก หากมีร่างกายแข็งแรงดีอยู่แล้ว ดังนั้น หากต้องการใช้อาหารเสริมเพื่อช่วยลดน้ำหนัก ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้ง
6. เหตุผลติดปาก “ไม่มีเวลา”
“ไม่มีเวลา” เป็นข้ออ้างที่พบบ่อยที่สุดสำหรับผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า ผู้หญิง 41% พูดว่าไม่มีเวลา เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการไม่กินอาหารให้ดีขึ้น และผู้หญิง 73% พูดว่าไม่ออกกำลังกายเพราะตารางงานยุ่งเกินไป ดังนั้น ถ้าต้องการลดน้ำหนักให้ได้ผล ควรหยุดใช้ข้ออ้างว่าไม่มีเวลา และหาเวลาเพื่อออกกำลังกาย