backup og meta

น้ำใบเตย ประโยชน์ ข้อควรระวังในการบริโภค และวิธีทำง่ายๆ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/03/2024

    น้ำใบเตย ประโยชน์ ข้อควรระวังในการบริโภค และวิธีทำง่ายๆ

    น้ำใบเตย คือเครื่องดื่มที่ทำจากใบของไม้พุ่มขนาดเล็กที่เรียกว่า เตย หรือเตยหอม หรือที่มักเรียกว่า ใบเตย ลักษณะเป็นใบเดี่ยวสีเขียว ยาว ปลายเรียว มีกลิ่นหอม น้ำใบเตยนิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบที่ช่วยเพิ่มกลิ่นและรสชาติในเมนูอาหารและขนมไทยหลายชนิด นอกจากนี้ ในใบเตยและน้ำใบเตยยังใบเตยมีสารอาหารหลายชนิดที่อาจช่วยบำรุงสุขภาพ เช่น ช่วยป้องกันโรคข้ออักเสบ ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด

    คุณค่าโภชนาการของใบเตย

    ใบเตย 100 กรัม ให้พลังงาน 85 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหาร ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 17 กรัม
    • โปรตีน 1.3 กรัม
    • ไขมัน 0.7 กรัม
    • ไฟเบอร์ 13% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน

    นอกจากนี้ ใบเตยยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพ เช่น วิตามินบี 1 หรือไทอะมีน (Thiamine) วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin) วิตามินบี 3 หรือไนอะซิน (Niacin) วิตามินซี เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ที่อาจช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ ช่วยต้านการอักเสบ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ

    น้ำใบเตย สรรพคุณ มีอะไรบ้าง

    ในใบเตยซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำใบเตยมีสารอาหารและสารพฤกษเคมีหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพของใบเตยหรือน้ำใบเตย ดังนี้

    • ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

    ใบเตยมีแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ซึ่งเป็นสารสร้างเม็ดสีที่พบได้ในพืช มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายจากอนุมูลอิสระ การติดเชื้อ สารเคมี และควันบุหรี่ที่อาจส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระดับแคโรทีนในเลือดและความแปรผันของอัตราการเต้นของหัวใจ โดยการศึกษาข้อมูลมที่ได้จากงานวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับสุขภาพและการมีสุขภาวะที่ดีของประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อว่า The Midlife in the United States (MIDUS) Series

    โดยมีกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่ อายุ 34-84 ปี จำนวน 1,074 คน ผลงานวิจัยพบว่า การรับประทานผักผลไม้ทุกวันอาจช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในเลือด ซึ่งมีส่วนช่วยปรับปรุงความแปรผันของอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัดขึ้น

    • ช่วยลดระดับไขมันในเลือด

    วิตามินบี 3 หรือไนอะซินในใบเตย มีส่วนช่วยเปลี่ยนสารอาหารเป็นพลังงาน และอาจช่วยซ่อมแซมความเสียหายของ DNA จากการถูกอนุมูลอิสระทำลายได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหนานจิง ประเทศจีน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine® เมื่อเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2564 ทำการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอาหารเสริมไนอะซินในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

    โดยการรวบรวมและทบทวนข้อมูลงานวิจัย 8 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของอาหารเสริมไนอะซินต่อการควบคุมระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 2,110 คน พบว่า ไนอะซินอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ แต่อาจไม่ได้ส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจึงอาจต้องมีการศึกษาวิจัยในประเด็นนี้ต่อไป

  • อาจช่วยบรรเทาอาการโรคข้ออักเสบและข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • ใบเตยมีสารไฟโตเคมิคอล หรือไฟโตนิวเทรียนท์ ซึ่งเป็นสารประกอบตามธรรมชาติในพืช เช่น แคโรทีนอยด์ ซึ่งร่างกายมนุษย์สร้างเองไม่ได้ ต้องได้รับจากการบริโภคพืชเท่านั้น สารเหล่านี้มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังอาจช่วยป้องกันภาวะข้ออักเสบ จากโรคข้ออักเสบ และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ 

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร 3 Biotech เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้สารไฟโตเคมิคอลเป็นยาต้านพิษนิวเคลียร์แฟคเตอร์แคปป้าบี (Nuclear Factor Kappa B หรือ NF-κB) ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยนิวเคลียร์แฟคเตอร์แคปป้าบีเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท รวมถึงการอักเสบในร่างกาย

    ผลการศึกษาพบว่าโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายตัวเอง ส่งผลให้  NF-κB ทำงานผิดปกติ จนเกิดการอักเสบบริเวณกระดูก และอาจมีอาการปวดข้อต่ออย่างรุนแรง โรคนี้พบมากในคนวัย 40-70 ปี และการรักษาด้วยยาที่นิยมใช้กันอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หรือทำให้อาการของโรคแย่ลงได้

    แต่การใช้สารไฟโตเคมีคัลในการรักษา อาจช่วยยับยั้งการทำงานของ NF-κB และช่วยต้านการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากการรักษา จึงอาจช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้สะดวกและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

    • รักษาบาดแผลบนผิวหนัง

    ใบเตยมีกรดแทนนิก (Tannic acid) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโพลีฟีนอลที่มีส่วนช่วยรักษาอาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น ผิวหนังไหม้ บาดแผลที่ผิวหนัง งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร ACS Applied Materials & Interfaces เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรักษาแผลของไฮโดรเจลที่มีกรดแทนนิกเป็นส่วนประกอบ พบว่า กรดไฮโดรเจลที่มีสารสกัดจากกรดแทนนิกเป็นส่วนประกอบ อาจช่วยต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรีย และช่วยให้บาดแผลสมานได้ไวขึ้น

    ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำใบเตย

    น้ำใบเตย อาจมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ และส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วงได้หากรับประทานในปริมาณมาก และถึงแม้ใบเตยจะมีสารประกอบมากมายที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่หากนำมาประกอบอาหาร ขนมหวาน หรือเครื่องดื่ม แล้วเติมเครื่องปรุงรส เช่น น้ำตาล น้ำปลา ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หากรับประทานมากเกินไป เช่น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจนนำไปสู่โรคเบาหวาน หรือโซเดียมอาจทำให้ไตทำงานหนักจนไตเสื่อม มีอาการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นต้น

    วิธีทำน้ำใบเตยง่าย ๆ

    ส่วนผสม

    1. ใบเตย 2-3 ใบ
    2. น้ำสะอาด
    3. เกลือและน้ำตาลเล็กน้อย

    วิธีทำ

    1. ล้างใบเตยให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
    2. ต้มน้ำให้เดือด ใส่ใบเตยลงไป ต้มประมาณ 5 นาที
    3. เติมเกลือหรือน้ำตาลเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ หรือหากอยากให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น สามารถใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรืองดปรุงรสน้ำใบเตย
    4. คนให้เข้ากัน ปิดเตา รอให้น้ำใบเตยเย็น แล้วเทใส่ภาชนะแช่เย็น หรือเทใส่แก้วดื่มได้ทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/03/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา