บ๊วย (Ume หรือ Japanese apricot) เป็นผลไม้เมล็ดแข็งในตระกูลพรุน ผลเป็นทรงกลมสีเขียว เมื่อแก่ได้ที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีรสชาติค่อนข้างเปรี้ยวและฝาด นิยมนำไปประกอบอาหาร เช่น ปลานึ่งบ๊วย ขาหมูต้มบ๊วย นำไปทำเป็นเครื่องดื่ม เช่น น้ำบ๊วย น้ำบ๊วยโซดา หรือนำไปอบแห้งและแปรรูปหลากหลายแบบ เช่น บ๊วยแห้ง บ๊วยเค็ม บ๊วยดอง บ๊วยอัดเม็ด บ๊วยอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี โพแทสเซียม แคลเซียม
คุณค่าทางโภชนาการของ บ๊วย
บ๊วยประมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 388 กิโลแคลอรี และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น
- คาร์โบไฮเดรต 67.9 กรัม
- ไขมัน 13.4 กรัม
- โปรตีน 9.7 กรัม
- โพแทสเซียม 2,328 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 269 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 82 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ บ๊วยยังมีวิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบได้ อีกทั้งบ๊วยยังอุดมไปด้วยกรดซิตริก (Citric acid) ที่ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ บ๊วย
อาจช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้
บ๊วยมีคุณสมบัติคล้ายสารเลคติน (Lectins) ที่อาจช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งนี้ บ๊วยอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อก่อนที่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกาย แต่ไม่มีผลต่อการบรรเทาอาการหลังติดเชื้อแล้ว
งานวิจัยชิ้นหนึ่งทีตีพิมพ์ในวารสาร Biological and Pharmaceutical Bulletin เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอของน้ำบ๊วยเข้มข้น พบว่า น้ำบ๊วยเข้มข้นอาจช่วยป้องกันและลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอได้ เนื่องจากไปยับยั้งการยึดเกาะของไวรัสกับเซลล์ในร่างกาย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้เป็นเพียงข้อมูลจากงานศึกษาในห้องทดลอง จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
อาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพระบบทางเดินอาหาร
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Clinical Nutrition เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ยับยั้งการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง (Chronic gastritis) จากเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรของบ๊วย โดยการเก็บเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนอายุน้อยกว่า 65 ปีจำนวน 68 คนไปตรวจหาปริมาณของเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร พบว่า กลุ่มที่รับประทานบ๊วยแห้งหรือบ๊วยดอง 3 ลูกขึ้นไป/วัน มีจำนวนเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรในกระเพาะอาหารน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานบ๊วยแห้งหรือบ๊วยดองไม่ถึง 3 ลูก/วัน และยังมีการอักเสบของเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารเกิดขึ้นน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้เป็นเพียงข้อมูลจากงานศึกษาขนาดเล็ก จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ข้อควรระวังในการบริโภค บ๊วย
ข้อควรระวังในการบริโภคบ๊วย มีดังนี้
- ควรงดรับประทานบ๊วยสด เนื่องจากในเมล็ดบ๊วยมีสารอะมิกดาลิน (Amygdalin) ที่ร่างกายจะย่อยสลายกลายเป็นสารพิษไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ซึ่งทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก และหากร่างกายได้รับในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- ควรเลือกบริโภคบ๊วยแปรรูป เช่น บ๊วยดอง บ๊วยเค็ม จากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือและมีเลขอย. รับประกันคุณภาพของสินค้า เนื่องจากบ๊วยแปรรูปโดยเฉพาะบ๊วยดองอาจใส่สารกันราที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ควรรับประทานบ๊วยที่ผ่านการแปรรูปแล้วในปริมาณที่เหมาะสม เพราะอาจมีเกลือหรือโซเดียมในปริมาณมาก
[embed-health-tool-bmr]