backup og meta

สาหร่ายวากาเมะ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

สาหร่ายวากาเมะ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

สาหร่ายวากาเมะ เป็นสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลที่พบได้ในญี่ปุ่นและเกาหลี มีแคลอรี่ต่ำ อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี โซเดียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส ทั้งยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ลดภาวะดื้ออินซูลิน รวมไปถึงอาจช่วยต้านโรคมะเร็งได้ การรับประทานสาหร่ายวากาเมะในปริมาณที่เหมาะสม จึงอาจส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของสาหร่ายวากาเมะ

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า สาหร่ายวากาเมะ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 45 กิโลแคลอรี่ มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 80 กรัม และอุดมไปด้วยสารอาหาร เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 9.14 กรัม
  • โปรตีน 3.03 กรัม
  • โซเดียม 872 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 150 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 107 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 2.18 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ สาหร่ายวากาเมะยังมีวิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค เบต้าแคโรทีน และสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารฟูโคแซนทีน (Fucoxanthin) ที่พบในสาหร่ายสีน้ำตาล อีกทั้งสาหร่ายวากาเมะยังมีไอโอดีน ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญในการบำรุงสุขภาพต่อมไทรอยด์ และเนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างไอโอดีนเองได้ จึงควรรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายได้รับไอโอดีนเพียงพอ

สาหร่ายวากาเมะ ประโยชน์ มีอะไรบ้าง

สาหร่ายวากาเมะ อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของสาหร่ายวากาเมะ ดังนี้

อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน

สารฟูโคแซนทีน และสารฟูคอยแดน (Fucoidan) ในสาหร่ายวากาเมะเป็นสารแคโรทีนอยด์ที่พบมากในสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยปรับปรุงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Nutritional Science เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับความสามารถในการลดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c levels) ของน้ำมันที่สกัดจากสาหร่ายสีน้ำตาล

โดยให้กลุ่มตัวอย่างชาวญี่ปุ่นที่มีน้ำหนักตัวปกติและเป็นโรคอ้วนรับประทานน้ำมันสาหร่ายทะเลท้องถิ่นที่อยู่ในสกุลเดียวกับสาหร่ายวากาเมะซึ่งมีปริมาณฟูโคแซนทีน 0 มิลลิกรัม 1 มิลลิกรัม และ 2 มิลลิกรัม ตามลำดับ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า ผู้ที่รับประทานน้ำมันที่มีฟูโคแซนทีน 2 มิลลิกรัม มีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานน้ำมันที่มีฟูโคแซนทีน 0 มิลลิกรัม

อาจช่วยลดภาวะดื้ออินซูลิน

สาหร่ายวากาเมะมีฟูโคแซนทีน ซึ่งเป็นสารแคโรทีนอยด์ที่พบเฉพาะในสาหร่ายสีน้ำตาล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยต้านโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้ เนื่องจากช่วยลดภาวะดื้ออินซูลิน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Medicine Reports ฉบับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ. 2552 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านโรคอ้วนและต้านเบาหวานของฟูโคแซนทีนต่อการเกิดโรคอ้วนจากการบริโภคอาหาร พบว่า การบริโภคสาหร่ายวากาเมะที่อุดมไปด้วยฟูโคแซนทีนช่วยควบคุมน้ำหนักตัวและปริมาณเนื้อเยื่อไขมันสีขาว ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อไขมันที่พบมากที่สุดในร่างกาย

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า สาหร่ายวากาเมะมีสารพฤษเคมีที่ช่วยในการควบคุมกระบวนการเผาผลาญไขมันและภาวะดื้ออินซูลินที่เกิดจากการรับประทานอาหารได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทดลองในสัตว์ จึงควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของสาหร่ายวากาเมะในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนและภาวะดื้ออินซูลินจากการรับประทานอาหารไขมันสูงต่อไป

อาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง

สาหร่ายวากาเมะมีฟูโคแซนทีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ออกฤทธิ์ต้านการเกิดปฏิกิริยาเครียดออกซิเดชัน (Oxidative stress) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง ทั้งยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ด้วยการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตายโดยไม่กระทบต่อเซลล์ปกติ และลดการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมของมนุษย์ได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Cellular and Molecular Medicine เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับฟูโคแซนทีนและฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านม พบว่า สารฟูโคแซนทีนที่สกัดจากสาหร่ายวากาเมะสามารถลดการสร้างหลอดน้ำเหลืองใหม่จากก้อนเนื้องอกได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทดลองในหลอดทดลอง ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไป

ข้อควรระวังในการบริโภค สาหร่ายวากาเมะ

ข้อควรระวังในการบริโภคสาหร่ายวากาเมะ อาจมีดังนี้

  • สาหร่ายวากาเมะมีโซเดียมสูง จึงไม่ควรบริโภคมากเกินไปหรือบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพราะอาจทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  • ควรเลือกซื้อสาหร่ายวากาเมะจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพราะการบริโภคสาหร่ายวากาเมะที่มาจากแหล่งผลิตหรือแหล่งซื้อขายที่อาจปนเปื้อนสารเคมีบางชนิดในระดับสูง เช่น สารหนู ปรอท ตะกั่ว อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
  • สาหร่ายวากาเมะมีวิตามินเคที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว จึงอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาละลายลิ่มเลือด ผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวอยู่จึงไม่ควรรับประทานสาหร่ายวากะเมะ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Seaweed, wakame, raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/170496/nutrients. Accessed July 12, 2022

Reduction of HbA1c levels by fucoxanthin-enriched akamoku oil possibly involves the thrifty allele of uncoupling protein 1 (UCP1): a randomised controlled trial in normal-weight and obese Japanese adults. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5465861/. Accessed July 12, 2022

Anti-obesity and anti-diabetic effects of fucoxanthin on diet-induced obesity conditions in a murine model. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21475918/. Accessed July 12, 2022

Fucoxanthin inhibits tumour-related lymphangiogenesis and growth of breast cancer. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30648805/. Accessed July 12, 2022

Effects of seaweed supplementation on blood glucose concentration, lipid profile, and antioxidant enzyme activities in patients with type 2 diabetes mellitus. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2815322/. Accessed July 11, 2022

Effects of a Japan Diet Intake Program on Metabolic Parameters in Middle-Aged Men. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27667329/. Accessed July 11, 2022

Health Benefits of Seaweed. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-seaweed. Accessed July 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาหร่ายสีน้ำตาล (Bladder Wrack)

สาหร่าย อาหารแคลอรี่ต่ำ คุณประโยชน์เพียบ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา