ความเสี่ยงในการรับประทานแครอท
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อรับประทานแครอท มีดังนี้
- หากรับประทานแครอทที่มีเบต้าแคโรทีนมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะผิวสีส้มหรือสีเหลือง (Carotenemia) ซึ่งไม่เป็นอันตราย แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมาก อาจยับยั้งการทำงานของวิตามินเอ ส่งผลต่อการมองเห็น กระดูก ผิวหนัง ระบบเผาผลาญ และระบบภูมิคุ้มกันได้
- เมื่อรับประทานแครอท บางคนอาจเกิดอาการภูมิแพ้ในช่องปาก อาจมีอาการคันปาก เนื่องจาก ร่างกายทำปฏิกิริยากับโปรตีนในผักและผลไม้บางชนิด จึงควรรับประทานแครอทที่ปรุงสุกแล้ว ซึ่งอาจช่วยลดอาการภูมิแพ้ได้
- แครอทที่ปลูกในดินที่ปนเปื้อนสารเคมี สารตะกั่ว หรือโลหะหนักจำนวนมาก อาจส่งผลต่อคุณภาพของแครอทและความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค อาจมีผลต่อเซลล์ไขกระดูก ระบบประสาท และการทำงานของไต อาจทำให้มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก น้ำหนักลด นอกจากนี้ อาจส่งผลต่อเม็ดเลือดแดงเสี่ยงต่อโรคโลหิตจาง ดังนั้น จึงควรเลือกซื้อแครอทจากแหล่งเพาะปลูกที่ปลอดภัยและล้างให้สะอาด หรือปรุงให้สุกก่อนรับประทานเสมอ
วิธีรับประทานและทำความสะอาดแครอท
แครอทสามารถรับประทานดิบหรือปรุงสุกได้ แต่อาจเป็นข้อยกเว้นในบางคนที่มีอาการภูมิแพ้ อาจต้องปรุงสุกก่อนรับประประทาน ซึ่งเบต้าแคโรทีนในแครอทอาจดูดซึมได้ดีในแครอทปรุงสุก
ควรรับประทานแครอทสดหรือแครอทนึ่ง เพราะให้คุณค่าทางอาหารสูง หลีกเลี่ยงการต้มเพราะอาจลดหรือสูญเสียวิตามินหรือแร่ธาตุอื่น ๆ
แคโรทีนอยด์และวิตามินเออาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้นเมื่อมีไขมัน จึงควรรับประทานแครอทควบคู่กับไขมันที่ดี เช่น อะโวคาโด ถั่ว ธัญพืช หรือน้ำมันรำข้าว
เทคนิคล้างผัก
ล้างผักเพื่อขจัดสารปนเปื้อนสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- การแช่ผักด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนตหรือผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 20 ลิตร ประมาณ 15 นาที อาจช่วยลดสารพิษที่ตกค้างได้ประมาณ 90%
- การแช่ผักด้วยผงถ่านแอคติเวตชาร์โคล (Activated Charcoal) หรือผงคาร์บอนกัมมันต์ ประมาณ 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 5 ลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที ล้างออกด้วยน้ำสะอาด อาจช่วยดูดซับสารเคมี สี และกลิ่น ได้ประมาณ 90%
- การแช่ผักในน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ประมาณ 30-45 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด อาจช่วยลดปริมาณสารพิษได้ประมาณ 80%
- การล้างผักให้น้ำไหลผ่านและใช้มือล้างผักประมาณ 2 นาที อาจช่วยลดสารพิษได้ถึง 60%
- การแช่ผักและผลไม้ในด่างทับทิมประมาณ 20-30 เกล็ด อาจช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 40%
- การล้างด้วยน้ำสะอาดและน้ำยาล้างผัก อาจช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 25%
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย