อาการแพ้คาเฟอีน
อาการแพ้คาเฟอีนมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ โดยอาจแสดงอาการ ดังนี้
- ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล
- หายใจมีเสียงหวีด
- ตาแดง คันตา น้ำตาไหล
- ลมพิษ ผื่นแดง คัน
- ริมฝีปากและลิ้นบวม คันปาก ริมฝีปากและลิ้น
- อาการหอบหืด โรคผิวหนังอักเสบ
บางคนอาจมีอาการแพ้คาเฟอีนที่รุนแรง ดังนี้
- ตา ริมฝีปาก ใบหน้า และลิ้นบวมอย่างรุนแรง
- หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังหวีด มีปัญหาในการพูด
- ไอ คลื่นไส้ ปวดท้อง หรืออาเจียน
- วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
- ช็อก หมดสติ หรือเสียชีวิต
การรักษาอาการแพ้คาเฟอีน
การแพ้คาเฟอีนอาจรักษาได้หลายวิธี ดังนี้
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันอาการแพ้ โดยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง ยาบางชนิด เช่น ยาบรรเทาอาการปวดไมเกรน (Excedrin Migraine)
รับประทานยาภูมิแพ้ เมื่อสังเกตเห็นอาการแพ้ โดยยาแก้แพ้อาจมีดังนี้
- ยาแก้แพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ไฮดรอไซซีน (Hydroxyzine) สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ไม่รุนแรง
- ยาใช้เพื่อลดอาการคัดจมูก เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ยาหดหลอดเลือด (Decongestant)
- ยาสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เบตาเมทาโซน ไดโพรพิโอเนต (Betamethasone Dipropionate) โคลเบทาซอล (Clobetasol) สามารถช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากอาการแพ้ บรรเทาลมพิษ โรคหอบหืด
- ยาเฉพาะที่อย่างโลชั่นและครีม เช่น คาลาไมน์ อีโมลเลียนต์ (Emollients) เพื่อให้ความชุ่มชื้นกับผิว ลดอาการผิวแดง คัน ลดการอักเสบ
ภูมิคุ้มกันบำบัด (Desensitization) ใช้รักษาอาการแพ้อย่างรุนแรงและเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ โดยผู้ป่วยจะได้รับสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณเล็กน้อยเป็นครั้งคราวผ่านการฉีด ยาหยอด หรือยาเม็ด เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวกับสารก่อภูมิแพ้ได้เอง การรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมของคุณหมอ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรงได้
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย