backup og meta

เมนู อาหารสำหรับ ไทรอยด์เป็นพิษ

เมนู อาหารสำหรับ ไทรอยด์เป็นพิษ

เมนู อาหารสำหรับ ไทรอยด์เป็นพิษ ควรเป็นเมนูที่ช่วยลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ช่วยลดการดูดซึมไอโอดีนที่อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักขึ้น และช่วยบำรุงสุขภาพเพื่อเสริมธาตุอาหาร รวมทั้งมวลกระดูกที่ร่างกายอาจสูญเสียไปในขณะที่เป็นภาวะไทรอยด์เป็นพิษ นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจส่งผลทำให้อาการกำเริบและรุนแรงขึ้น

[embed-health-tool-bmr]

ไทรอยด์เป็นพิษ คืออะไร

ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) คือ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนไทรอกซิน (Thyroxine หรือ T4) มากเกินไป โดยฮอร์โมนไทรอกซินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานมากขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เหงื่อออก หงุดหงิด นอนหลับยากและอ่อนเพลีย เป็นต้น หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจเสี่ยงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกเปราะ ปัญหาหัวใจ ปัญหาสายตา ผิวบวมแดง ปัญหาต่อมไทรอยด์ขั้นวิกฤต

เมนู อาหารสำหรับ ไทรอยด์เป็นพิษ

ผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษควรเลือกรับประทานเมนูอาหารที่ช่วยลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์และช่วยลดการดูดซึมไอโอดีนที่ส่งผลทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักขึ้น ดังนั้น เมนูสำหรับผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษอาจมีดังนี้

  • เมนูอาหารไอโอดีนต่ำ เช่น ไข่ขาว เกลือไม่เสริมไอโอดีน ผักและผลไม้ สมุนไพร เครื่องเทศ น้ำมันพืช น้ำตาล น้ำผึ้ง ถั่ว น้ำมะนาว เนื้อวัว ไก่ เนื้อแกะ เพื่อช่วยลดกระบวนการผลิตฮอร์โมนออกมามากขึ้น
  • เมนูอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ซีเรียล ดาร์กช็อกโกแลต ลูกเกด หอยนางรม ปลาซาร์ดีน ถั่วขาว ถั่วดำ ผักปวยเล้ง ถั่วชิกพี เต้าหู้ เนื่องจากผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีระดับธาตุเหล็กต่ำ ซึ่งธาตุเหล็กมีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดเพื่อช่วยในการลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย
  • เมนูอาหารที่มีซิลีเนียม (Selenium) เช่น ถั่ว กุ้ง แฮม ทูน่า ซีเรียล ข้าว ไก่ ไข่ เนื้อวัว คอทเทจชีส (Cottage Cheese) ข้าวโอ๊ต ผักปวยเล้ง เนื่องจากซิลีเนียมเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการเพื่อเผาผลาญฮอร์โมนไทรอยด์ รวมถึงยังอาจช่วยปรับปรุงอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษได้อีกด้วย
  • เมนูอาหารที่มีผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำดาว กะหล่ำปลี บ๊อกฉ่อย บร็อคโคลี่ หัวไชเท้า คะน้า หัวผักกาด ผักใบเขียว เนื่องจากสารประกอบในผักตระกูลกะหล่ำอย่างซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ฟีนิทิล (Phenethyl) และไอโซไทโอไซยาเนต (Isothiocyanate) อาจช่วยลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์และอาจช่วยลดการดูดซึมไอโอดีนโดยต่อมไทรอยด์
  • เมนูอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี เช่น นม ชีส โยเกิร์ต ไอศกรีม ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน บร็อคโคลี่ น้ำส้ม ผักคะน้า บ๊อกฉ่อย เต้าหู้ นมถั่วเหลือง เพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูก เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษอาจมีมวลกระดูกที่ลดลง

สำหรับตัวอย่างเมนูอาหารสำหรับไทรอยด์เป็นพิษ อาจมีดังนี้

  • เมนูต้ม เช่น ต้มจืดตำลึงหมูสับเต้าหู้ ต้มยำไข่น้ำ ต้มจับฉ่ายน่องไก่ ซุปไก่มันฝรั่ง เกี๊ยวปลา กระเพาะปลา แกงจืดไข่น้ำหมูสับ ไก่ตุ๋นฟัก ซี่โครงหมูตุ๋นเยื่อไผ่
  • เมนูผัด เช่น ผัดผักรวม ผัดคะน้าน้ำมันหอย ผัดบร็อคโคลี่กุ้ง ผัดกวางตุ้งหมูสับ มะละกอผัดวุ้นเส้น ผัดเปรี้ยวหวานหมู ผัดผักแขนงหมู ผัดหมูสับพริกหยวก
  • เมนูนึ่ง เช่น ปลานึ่งต่าง ๆ ผักนึ่ง
  • เมนูแกง เช่น แกงส้ม แกงส้มชะอมไข่ แกงเผ็ดไก่ แกงเขียวหวาน แกงเนื้อ แกงเทโพ แกงกะทิสายบัวปลาทูนึ่ง แกงเผ็ดเป็ดย่าง แกงเผ็ดไก่ แกงเลียง แกงพะแนง แกงผักกูด แกงป่า แกงไตปลา
  • อาหารว่าง เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง โยเกิร์ต ไอศกรีม น้ำผลไม้ น้ำผัก ซีเรียล ถั่วต่าง ๆ

ทั้งนี้ ควรควบคุมปริมาณเกลือหรือเครื่องปรุงที่มีส่วนผสมของไอโอดีน เพื่อป้องกันการทำงานมากขึ้นของต่อมไทรอยด์

อาหารที่คนไทรอยด์เป็นพิษควรหลีกเลี่ยง

ผู้ที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารต่อไปนี้ เพื่อป้องกันอาการที่อาจรุนแรงขึ้น

  • ไอโอดีนมีความสำคัญต่อการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ แต่การรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูงเกินไป เช่น เกลือ ปลา หอย ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่แดง อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักขึ้นและผลิตฮอร์โมนออกมามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษมีอาการแย่ลงได้
  • ไทรอยด์เป็นพิษเป็นโรคที่อาจพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคซิลิแอค (Celiac) ดังนั้น ผู้ที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกลูเตน เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวไรย์ หากงดอาหารเหล่านี้อาจช่วยให้ร่างกายดูดซึมยาไทรอยด์ได้ดีขึ้นด้วย
  • คาเฟอีน เช่น กาแฟ ชาดำ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น อาการใจสั่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่เหมือนกับอาการไทรอยด์เป็นพิษ ดังนั้น การรับประทานคาเฟอีนจึงอาจทำให้อาการไทรอยด์เป็นพิษแย่ลงได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Iodine. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/iodine/. Accessed July 7, 2022

Low Iodine Diet. https://www.thyroid.org/low-iodine-diet/. Accessed July 7, 2022

Is there any truth to the hypothyroidism diet? Can certain foods increase thyroid function?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hypothyroidism/expert-answers/hypothyroidism-diet/faq-20058554. Accessed July 7, 2022

Hyperthyroidism (overactive thyroid). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperthyroidism/symptoms-causes/syc-20373659#:~:text=Hyperthyroidism%20(overactive%20thyroid)%20occurs%20when,treatments%20are%20available%20for%20hyperthyroidism. Accessed July 7, 2022

Concentrations of thiocyanate and goitrin in human plasma, their precursor concentrations in brassica vegetables, and associated potential risk for hypothyroidism. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4892312/. Accessed July 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/04/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 อาหารที่ช่วยดีท็อกลำไส้ มีอะไรบ้าง

อาหารลดความดันโลหิตสูง มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/04/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา